“อุบัติเหตุ (accident)” หมายถึง “เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิด” ถือกันว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่คาดฝันมาก่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเนื้อเยื่อ (tissue) และทางเมตาโบลิซึมของร่างกายให้ปรากฏ”

องค์การอนามัยโลก หรือ UN รายงานว่า ในแต่ละปีมีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.9 ล้านคน

ในส่วนของประเทศไทย พบว่าในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2556 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวม 119,615 คน เฉลี่ยปีละ 11,962 คน   ผลการวิเคราะห์ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตรวม 14,789 คน หรือเฉลี่ย 2 คน ในทุกๆ 1 ชั่วโมง เพศชายเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี หากจำแนกตามประเภทยานพาหนะ พบว่ารถจักรยานยนต์มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด

      

จากผลการสำรวจปี 2557 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสถิติระบุว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีจำนวน 44 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประชากรไทยมีค่าเฉลี่ย 5.1% ของอัตราการเสียชีวิตโดยรวม

        

รายงานมูลค่าความเสียหายจากอุบัติเหตุในประเทศไทย สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เคยคำนวณมูลค่าความเสียหายดังกล่าวในมิติเศรษฐกิจ อาทิ แรงงานและผลผลิต ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องเผชิญในแต่ละปี (มูลค่าเฉลี่ยปี 2550) เป็นมูลค่าสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ

ค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ต้องพิการจากอุบัติเหตุ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้พิการเอง รวมทั้งครอบครัวของเขาด้วย เพราะหากครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งต้องทำการดูแลผู้พิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิตแล้ว วิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวก็ย่อมจะต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากการที่พวกเขาไม่สามารถจะออกไปทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองได้ตามปกติเช่นครอบครัวอื่น ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เว็บไซต์ธนาคารโลก และจากเว็บไซต์สถิติของกระทรงสาธารณสุข