ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นวางแผนการเงินรับปีใหม่ หากอยากรวย หรือ อยากมีอิสรภาพทางการเงิน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเริ่มวางแผนการเงิน เพราะยิ่งวางแผนการเงินเร็วเท่าไร โอกาสมีเงินเหลือเก็บไว้มากเท่านั้นค่ะ หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “แผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ลองมาตรวจสอบฐานะทางการเงินของคุณตอนนี้เป็นอย่างไรโดยดูจากตัวเลขสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายทั้งหมด ว่าเป็นผู้มีฐานะดีหรือหนี้ท่วมกันแน่จากงบดุลส่วนบุคคลตามสูตร ความมั่งคั่งสิทธิ = สินทรัพย์ – หนี้สิน ถ้าผลออกมาเป็นบวกขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ แสดงว่าคุณมีเงินพอใช้หนี้แล้ว แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบหรือเป็นศูนย์แสดงว่าคุณยังมีเงินไม่เพียงพอใช้หนี้หากเจ้าหนี้ต้องการ แม้จะขายสินทรัพย์ทั้งหมดก็ตาม ลองมาดูเทคนิควางแผนการเงินรับปีใหม่ เพื่อความสบายใจ ไร้หนี้กันว่ามีเทคนิคอะไรบ้างที่คนอื่นทำได้.. แล้วทำไมตัวเราจึงจะทำไม่ได้ล่ะ
วางแผนการเงินแบบง่ายๆ ด้วยแนวคิด P-D-C-A*
P=Plan คือ การวางแผนการเงิน กำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตให้ชัดเจนว่าคุณอยากได้ อยากมี หรืออยากทำอะไร โดยเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือต้องประมาณจำนวนเงินที่ต้องการ และกำหนดระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวมถึงวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อที่คุณจะได้ไม่หลุดออกนอกเส้นทาง ลองมาดูตัวอย่างการกำหนดเป้าหมาย เช่น
เป้าหมายระยะสั้นทำเสร็จภายในเวลา 1 ปี เช่น ปลดหนี้บัตรเครดิต, ท่องเที่ยวต่างประเทศ, ซื้อมือถือใหม่
เป้าหมายระยะกลางทำเสร็จภายใน 2 – 10 ปี เช่น เงินแต่งงาน, เงินเรียนต่อปริญญาโท, เงินดาวน์บ้าน
เป้าหมายระยะยาวตั้งแต่ 10 ปี ขึ้น เช่น เงินออมเพื่อเกษียณ, เงินการศึกษาบุตร
D=DO คือ การปฏิบัติตามแผนการเงิน ตามขั้นตอนในแผนที่กำหนดไว้แล้ว เพราะความมั่งคั่งร่ำรวยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคุณยังใช้ชีวิตแบบเลื่อนลอยไปวันๆ แผนการเงินจะเป็นตัวกำหนดทิศทางให้คุณก้าวไปถึงเป้าหมาย ยิ่งเริ่มต้นวางแผนทางการเงินเร็วเท่าไหร่ ด้วยความมีวินัย ความสม่ำเสมอ คุณก็จะเข้าใกล้ความมั่งคั่ง ร่ำรวยเข้าไปทุกที ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำแนวทางการวางแผนการเงินที่คุณควรสร้างมี 4 ระดับด้วยกันคือ
1) สร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) เช่น วางแผนเงินออม, วางแผนใช้จ่ายเงิน, วางแผนหนี้สิน
2) ปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) เช่น วางแผนประกัน, วางแผนเกษียณ
3) เพิ่มพูนความมั่งคั่ง ( Wealth Accumulation) เช่น วางแผนลงทุน, วางแผนภาษี
4) ส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เช่น วางแผนมรดก
C=Check คือ การตรวจสอบแผนการเงิน ผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของแผน ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนในขั้นตอนใดหรือไม่ แผนการเงินที่จัดทำไว้คงไม่มีประโยชน์ หากไม่ได้ลงมือปฎิบัติ การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ก็จะยิ่งล่าช้าออกไปด้วย กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการวางแผนทางการเงิน คือ ต้องมีความตั้งใจจริงและมีวินัยในตนเอง เมื่อลงมือปฎิบัติ ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ถ้าคุณมีวินัยการออมการลงทุนแล้วล่ะก็รับรองได้เลยว่าเป้าหมายของคุณอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
A= Act คือ การปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการเงินของคุณยังไปได้สวย คุณต้องทบทวนและปรับปรุงแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ อาจทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อติดตามดูว่า คุณสามารถเก็บออมเงินได้ตามเป้าหมายหรือไม่ การลงทุนให้ผลตอบแทนตามที่ต้องการหรือไม่ หากผลที่ได้ไม่เป็นไปตามแผน ก็อาจถึงเวลาที่ต้องรื้อและปรับเปลี่ยนแผนกันใหม่ รวมถึงทบทวนตนเองว่า เมื่อระยะเวลาเปลี่ยนไป เป้าหมายของคุณยังเหมือนเดิมหรือไม่
เมื่อได้วางแผนการเงิน (P) นำไปปฎิบัติ (D) ระหว่างการปฎิบัติก็ดำเนินการตรวจสอบ (C) พบปัญหาก็ทำการแก้ไขหรือปรับปรุง (A) หากคุณสามารถปฏิบัติตามเทคนิควางแผนการเงินรับปีใหม่ด้วยแนวคิด P-D-C-A ทุกขั้นตอนได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับตนเอง คุณก็จะมีความสุข สบายใจ ไร้หนี้ได้ ไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไปนะคะ
สามารถติดตามบทความดีๆทางด้านการเงินได้ที่ https://www.krungsri.com/bank/th/krungsri-guru/home.html ทุกสาระความรู้ด้านการเงิน การออม การลงทุน เคล็ดลับประสบความสำเร็จของธุรกิจโดยผู้รู้ด้านการเงินชั้นนำของประเทศ ค่ะ
_____
* แนวคิด PDCA ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Walter Shewhart ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกการใช้สถิติสำหรับวงการอุตสาหกรรม และต่อมาวงจร PDCA ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ อย่าง W.Edwards Deming ได้นำมาเผยแพร่ ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการ วงจรนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Deming Cycle”
[ บทความนี้เป็นบทความ Advertorial ]
No Comment