ตะลึง “มะเร็งตับ” พรากชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 6 แสนราย “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ร่วมกับสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย และค่ายยาต่างชาติไบเออร์ เชริง ฟาร์มาฯ เปิดตัวโครงการ “N-PAP” บูรณาการฐานข้อมูล และใช้ยาในกลุ่ม Targeted Therapy ตัวใหม่ “Sorafenib” รักษาผู้เป็นมะเร็งตับ คาด 5 ปีข้างหน้า ลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับในไทยถึง 10%
มะเร็งถือเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งที่ฆ่าชีวิตของคนทั่วโลกมาจำนวนไม่น้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีความก้าวหน้าไปมากแต่ว่าสังคม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการ แพทย์แม้จะสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งร้ายได้ก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าไม่มีประสิทธิภาพมากนักถ้าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยังไม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ถือว่าเป็นส่วน หนึ่งที่สามารถช่วยชีวิตได้เท่านั้น เพราะการที่จะทำให้คนจำนวนมากรอดพ้นจากการเป็นโรคร้ายชนิดดังกล่าว ทุกคนจำเป็น จะต้องหันมาดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของการ รับประทานอาหาร และเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันภาครัฐบาลก็ควรเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องของการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องของมะเร็ง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญอันตราย รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ตนเองไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
นายแพทย์วิโรจน์ เหล่าสุนทรศิริ หัวหน้าศูนย์วิจัยทางคลีนิค สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกเสีย ชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งกว่า 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด คือประมาณ 1.3 ล้านรายต่อปี รองลงมาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านรายต่อปี ต่อมาเป็นมะเร็งตับ 662,000 รายต่อปี, มะเร็งลำไส้ 655,000 รายต่อปี และมะเร็งเต้านม 502,000 รายต่อปี
สำหรับโรคมะเร็งตับนั้น ถือว่าเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะชายไทยถือว่ามีอัตราการตายจากโรคมะเร็งชนิดดังกล่าวเป็นอันดับ 1 ขณะที่มะเร็งชนิดนี้จากการสำรวจพบว่าจะเกิดกับคนในแถบเอเชียเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นในแถบเอเชียมากนั้นเพราะต้นเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีในกลุ่มคนจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกงที่มาจากพ่อแม่ และไม่ได้ทำ การรักษาทำให้เชื้อดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วไปในกลุ่มคนที่เป็น และเมื่อมีการแต่งงานเชื้อชนิดนี้ก็ยังจะส่งต่อไปยังลูกซึ่งเกิดจากพันธุกรรม นอกเหนือจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนอย่างสารแอลฟาทอกซินที่จะอยู่ในนมและถั่ว
ขณะที่ประเทศไทยนั้นผู้ชายกว่า 40% จากจำนวนทั้งหมดของประเทศจะเป็นมะเร็งตับ โดยผู้มีความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งตับนั้นต้องมีภาวะการเป็นตับแข็ง 80% ซึ่งตับจะมีการทำงานลดลง โดยอาการของผู้เป็นตับแข็งนั้นจะมีลักษณะการเป็นท้องมาร และเป็นริดสีดวงทวารบ่อยมาก ขณะเดียวกันจะพบมากในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และกว่า 40% ของผู้ป่วยนั้นจะตรวจไม่พบอาการ แต่ผู้ที่เป็นนั้นจะมีอาการตับโต ตัวเหลืองตาเหลือง มีไข้ อ่อนเพลีย กดเจ็บที่บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา และพบก้อนที่ตับ
ทั้งนี้ ในการตรวจว่าจะเป็นมะเร็งตับหรือไม่นั้นสามารถตรวจหาได้หลายวิธี และวิธีที่นิยมมากที่สุดคือการอัลตราซาวด์ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางเอกซเรย์โดยตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจคลื่นแม่เหล็ก และเอกซเรย์ปอดอีกยังสามารถตรวจทางพยาธิวิทยาได้อีกด้วย รวมไปถึงการตรวจเลือด ดูการทำงานของ ตับและ APF แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาตรวจ นั้นจะมาในระยะลุกลามหรือปานกลางเป็น ส่วนมาก การตรวจเพื่อป้องกันในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และคนที่เป็นตับแข็ง นั้นควรทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวด์ทุก 4-6 เดือน เจาะเลือดดูค่าบ่งชี้มะเร็ง รักษาภาวะตับอักเสบ
นายแพทย์วิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการรักษานั้นจะมีอยู่หลายวิธีเช่นกัน แต่วิธีที่นิยมนั้นจะเป็นการฉีดยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดแดงโดยตรง รองลงมาคือการรักษาด้วยยาซึ่งวิธีที่แพทย์นิยมใช้จะเป็นการให้เคมีบำบัด เพื่อไปฆ่ามะเร็ง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นจะใช้ได้ผลกับผู้ป่วยเพียง 10% หรือต่ำกว่านั้น ส่วนการใช้ยารักษาชนิดเจาะจงเฉพาะจุด ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถเพิ่มความสามารถในการอยู่รอดของผู้ป่วยให้นานขึ้นขึ้น คือยา Sorafenib นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด การปลูก ถ่ายตับ การทำลายโดยรังสีหรือสารกัมมันตรังสี การจี้ทำลายเซลล์มะเร็งตับ และการรักษาตามอาการ
สำหรับยา Sorafenib ขณะนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของ ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างทดลองใช้ ซึ่งยาตัวนี้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำ ให้ขณะนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย และบริษัทไบเออร์ เชริง ฟาร์มา ผู้ผลิตยาในกลุ่ม Targeted Therapy ที่มีชื่อว่า “Sorafenib” เตรียมเปิดตัวโครงการ “N-PAP” โดยให้มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นเจ้าภาพโครงการ
โครงการ “N-PAP” เป็นโครงการที่ทางสถาบันและบริษัทผู้ผลิตยาจัดทำขึ้นมาเพื่อต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับ โดยช่วงแรกของการจัดทำโครงการนี้จะให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับเขียนชื่อที่อยู่และความต้องการที่จะเข้ามาเข้าร่วมและทางสถาบันจะทำการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะรักษาแต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะรักษาได้ในระยะยาว เนื่องจากการรักษาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 2 แสนบาทต่อเดือน ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบในเรื่องของรายได้ครอบครัวต่อปีด้วย
โดยโครงการดังกล่าวนี้จะเน้นไปที่กลุ่มวัยทำงานทั้งหญิงและชาย เนื่องจาก คนในกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มในการเป็นมะเร็งตับเยอะและมีอัตราการเสียชีวิตมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในการเข้าร่วมนั้นผู้ป่วยจำเป็น จะต้องมีการซื้อยานี้ใช้เพื่อทำการรักษาประมาณ 3 เดือนว่ามีอาการดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน จากนั้นสถาบันหลังจากที่ผู้ป่วยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และสามารถ ใช้ยาตัวนี้รักษาได้ดีสถาบันจะได้มีการนำเข้ามาอยู่ในโครงการเพื่อรักษาฟรีไปตลอด ชีวิต ซึ่งโครงการนี้ในปีแรกจะรับผู้ป่วยเข้า ร่วมประมาณ 200 คนเท่านั้น และจะเพิ่ม ขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ในอีก 4-5 ปีข้างหน้ามองว่าอัตราการตายจากผู้ที่เป็นมะเร็งตับ จะลดลงกว่า 10% สำหรับโครงการ “N-PAP” นี้จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคมนี้
ที่มา : www.siamturakij.com
No Comment