ในเมื่อชีวิตจริงที่ต้องเผชิญอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่สูงขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณควรจะมีประกันในรูปแบบต่างๆ ..แล้วประกันประเภทไหนบ้างที่คุณควรจะมี เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในปัจจุบัน
Oประกันชีวิต
          “พจนี คงคาลัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านประกัน กล่าวว่า เมื่อรู้ว่ารอบตัวเต็มไปด้วยความเสี่ยง พจนีแนะว่าคุณน่าจะให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตมากเข้าไว้ เพราะการทำประกันชีวิตก็คือการวางแผนป้องกันความเสี่ยงภัยด้านรายได้ในอนาคตข้างหน้า ที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน จริงอยู่วันนี้คุณอาจจะยังมีหน้าที่การงาน มีเรี่ยวแรงเพียงพอที่จะทำมาหากิน มีรายได้ที่เลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่วันข้างหน้าอาจจะเกิดอุบัติเหตุชีวิตขึ้นกับคุณ การทำประกันชีวิตจึงช่วยรับมือกับเรื่องร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ข้อสำคัญช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
ลองนึกดูว่า ถ้าวันดีคืนดี เกิดมีเหตุไม่คาดฝันกับครอบครัวของคุณ คุณซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ยังมีภาระทางการเงินอีกเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็เรื่องเรียนของลูกที่อาจกระทบกระเทือนหากขาดหัวหน้าครอบครัวอย่างคุณ
เพียงแค่นี้เราคงเห็นภาพแล้วว่า ถ้าไม่วางแผนสร้างหลักประกันไว้ตั้งแต่วันนี้ วันข้างหน้าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าชีวิตบั้นปลายจะอยู่ดีมีสุข หรือจะอุ่นใจได้อย่างไรว่า ถ้าเราไม่อยู่ พ่อ แม่ ลูก เมีย จะไม่ลำบาก ฉะนั้น การทำประกันชีวิต คือการวางแผนการสร้างหลักประกันความเสี่ยงในอนาคตนั่นเอง
ก่อนจะตัดสินใจทำประกันชีวิต พจนีแนะว่า ควรดูให้ถ้วนถี่ก่อนว่าประกันชีวิตแบบไหน ที่เหมาะกับคุณ เช่นถ้าคุณเป็นพวกที่ “อยากได้ความคุ้มครองสูง แต่มีความสามารถในการชำระเบี้ยต่ำ” ประมาณว่ารายได้น้อยแต่ภาระเยอะ และมีคนข้างหลังที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิต การทำประกันชีวิตแบบมีกำหนดระยะเวลา ที่ให้ความคุ้มครองชั่วระยะเวลา จึงเหมาะกับคุณ
เช่น คุณมีภรรยา ลูกที่กำลังเรียนอีก 2 คน และพ่อแม่ที่ต้องดูแล แถมมีหนี้ที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้านอีก แบบนี้ถ้าขาดเสาหลักอย่างคุณซักคน คนเหล่านี้อาจจะเดือดร้อนได้ คุณอาจจะเลือกทำประกันชีวิตแบบมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี ส่งเบี้ยเดือนละ 300 บาท แต่ทุนประกันสูงถึง 250,000 บาท
จริงอยู่คุณอาจจะส่งเบี้ยน้อย แต่ได้รับความคุ้มครองสูง แต่อย่าลืมว่าถ้าคุณเกิดอายุยืนกว่าที่คิด ไม่เสียชีวิตภายในกำหนดระยะเวลาที่เอาประกัน คุณก็จะไม่ได้อะไรเลย เท่ากับว่าเสียเงินจ่ายค่าเบี้ยประกันฟรี แต่สมมติว่าถ้าจ่ายเบี้ยเดือนละ 300 บาท ไปได้แค่ปีเดียวหรือคิดเป็นเงินที่จ่ายไปแล้ว 3,600 บาท แล้วคุณเกิดเสียชีวิตกะทันหัน บริษัทประกันก็ต้องจ่าย 250,000 บาทให้คุณ ทั้งที่เพิ่งจ่ายเงินไปไม่เท่าไหร่
หรือถ้าคุณเป็นพวกที่ “อยากได้ทั้งความคุ้มครองและออมเงินไปด้วย” เพราะไม่แน่ใจว่าพอแก่ตัวไปแล้ว จะมีลูกหลานมาคอยเลี้ยงดูเราหรือเปล่า ถ้าโจทย์ของคุณเป็นแบบนี้ การทำประกันแบบตลอดชีพ ก็น่าจะเหมาะกับคุณ การทำประกันแบบนี้ เป็นแบบที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ โดยมากระยะเวลาในการชำระเบี้ย มีตั้งแต่ 15 ปี ไปจนถึง 30 ปี แบบนี้นี่แหละที่ให้ทั้งความคุ้มครองและออมเงินไปในตัว จะว่าไปแล้ว วิธีนี้จะดีในแง่ที่คุณสามารถขอเวนคืนกรมธรรม์ได้ ซึ่งก็จะได้เงินสดมาจำนวนหนึ่งไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ
ที่จริงตอนทำจะมีการระบุชื่อคนรับประโยชน์ให้กับลูกหลานแต่ละคน แต่คนรับประโยชน์จะได้รับก็ต่อเมื่อเราลาโลกไปซะก่อน โดยมากคนที่เลือกทำประกันแบบนี้ ก็อาจพิจารณาแล้วว่า แนวโน้มคุณดูท่าจะมีอายุยืนยาว แต่กลัวไม่มีใครเลี้ยงตอนแก่
นอกจากนี้ ยังมีหัวหน้าครอบครัวที่เป็นนักธุรกิจจำนวนไม่น้อย นิยมทำประกันแบบตลอดชีพ โดยเฉพาะพวกนักธุรกิจที่มีหนี้สินพะรุงพะรัง ก็อาจเลือกทำประกันแบบนี้ไว้เพื่อคุ้มครองธุรกิจ เผื่อเกิดความพลาดพลั้งในชีวิต จะได้มีเงินประกันมาหนุนหลังครอบครัวให้เข็นธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
แต่สำหรับใครที่อยากให้การออมเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก ออมเพื่อไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ หรือคิดง่ายๆ แค่อยากมีเงินออมซักก้อนในชีวิต การทำประกันแบบสะสมทรัพย์ ดูท่าว่าจะเหมาะกับคุณที่สุด และด้วยความที่เงื่อนไขและลักษณะของการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ใกล้เคียงกับการฝากเงินมาก ทำให้เป็นรูปแบบการทำประกันชีวิตที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากที่สุด
แม้ประกันแบบสะสมทรัพย์ จะช่วยเก็บออมเงินเหมือนการฝากเงิน แต่ก็ยังต่างกันตรงระยะเวลา ผลตอบแทน มีความคุ้มครองกรณีสูญเสียชีวิต และที่สำคัญเป็นการฝากเงินไว้กับบริษัทประกัน ไม่ใช่ฝากไว้ในแบงก์
โดยสรุปคือ ประกันชีวิตจะเป็นเหมือนผู้ช่วยที่จะคอยผ่อนหนักให้เป็นเบา ยามที่เจอเรื่องหน้าสิ่วหน้าขวานของชีวิต หรือมากกว่านั้นคือประกันชีวิตกำลังช่วยคุณวางแผนการเงิน ให้ใช้ชีวิตอย่างสบายใจคลายความกังวล
“ยิ่งรู้ตัวว่ามีภาระเยอะ ยิ่งควรทำประกันชีวิตเอาไว้เยอะๆ” พจนีแนะ

Oประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพเป็นอีกอย่างหนึ่งที่พจนีแนะว่าทุกคนควรมีไว้ แม้ทุกวันนี้บริษัทหลายแห่งจะมีสวัสดิการที่ดูแลค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานไว้อยู่แล้ว แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่รับมือกับภาระค่าใช้จ่ายที่มีโอกาสเกิดขึ้น ยิ่งคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรจะทำประกันสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพนั้น น่าจะประกอบด้วยความคุ้มครองหลายอย่าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ตรงนี้เป็นตัวหลักที่ควรมีไว้ ค่ารักษาพยาบาลควรจะครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ และเกิดจากอุบัติเหตุ จะประกอบไปด้วย ค่าห้อง ค่ายา ค่าอาหาร ค่าเอกซเรย์ ค่าแล็บ ค่าห้องผ่าตัด ค่าผ่าตัด และค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินกรณีอุบัติเหตุและเป็นคนไข้นอก (ไม่ได้นอนโรงพยาบาลจะมีกำหนดวงเงินสูงสุดต่อครั้ง)
นอกจากนี้ ก็ควรมี ค่าชดเชยรายวัน เป็นค่าเสียเวลาหรือค่าเสียโอกาสที่เราต้องสูญเสียไปในกรณีที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล บริษัทจะจ่ายให้ตามจำนวนวันที่นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นจำนวนเงินตามแผนที่เราซื้อไว้ แต่จะมีการกำหนดว่าจ่ายสูงสุดไม่เกินกี่วัน ซึ่งเงินส่วนนี้อาจนำมาจ่ายเป็นค่ารักษาส่วนเกินหรือเป็นเงินสำรองของเราได้
อีกอย่างที่พจนีคิดว่าควรจะครอบคลุมคือ โรคร้ายแรง เป็นการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมกรณีเป็นโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรง เช่น ตับแข็ง ถุงลมปอดโป่งพอง ฯลฯ จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือค่ารักษาพยาบาลจากการเป็นโรคร้ายดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เงินในการรักษาสูง ค่ารักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การจ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทจะจ่ายเป็นค่าชดเชยรายวันตามจำนวนวันที่เรานอนรักษาในโรงพยาบาล เช่น วันละ 3,000 บาท โดยทั่วไปจ่ายสูงสุดที่ประมาณ 500 วัน (ขึ้นอยู่กับกำหนดของแต่ละบริษัท)
ลองคิดดูว่าคนที่เป็นโรคมะเร็ง โอกาสนอนโรงพยาบาลมีมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นเงินส่วนนี้ก็จะช่วยเสริมได้ กรณีที่เกินวงเงินหรือเป็นเงินสดสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ คนที่ซื้อประกันโรคมะเร็งส่วนใหญ่จะเน้นผลประโยชน์ค่ารักษามากกว่าการสูญเสียชีวิต
ทั้งหมดนี้เป็นประกันสุขภาพหลักๆ ที่เราควรมีไว้ สำหรับใครที่บริษัทมีสวัสดิการให้ค่ารักษาพยาบาลที่ดีอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพ ที่คุ้มครองแค่ค่ารักษาพยาบาลเล็กน้อย ยกเว้นในบางรายที่มีงบประมาณเพียงพอและไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ
“เวลาจะซื้อประกันสุขภาพ ไม่ควรซื้อค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน เพราะการเบิกต้องใช้ใบเสร็จตัวจริง ไม่สามารถเบิกซ้ำได้ ยกเว้นกรณีที่เบิกได้ไม่ครบถ้วนตามค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริงตามใบเสร็จ จึงจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือได้จากประกันค่ารักษากรมธรรม์อื่นหรือจากสวัสดิการได้ การจะซื้อเพิ่มน่าจะพิจารณากรณีที่คิดว่าค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ หรือซื้อเป็นค่าชดเชยรายวันที่สามารถเบิกจ่ายโดยใช้เพียงสำเนาใบเสร็จและใบรับรองแพทย์
ปัจจุบันมีบางบริษัทที่มีกรมธรรม์ประเภทนี้ขายอยู่ ซึ่งเวลาจะซื้อต้องดูว่าเรามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ หากเรามีสวัสดิการรองรับแต่อาจไม่เพียงพอ หรือไม่แน่ใจว่า จะได้ตลอดหรือไม่ ก็อาจจะซื้อเพิ่มไว้ ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ โดยอาจซื้อเพิ่มเป็นค่าชดเชยรายวันที่ค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าค่ารักษาพยาบาล ข้อสำคัญคือต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาห้ามปกปิด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการขอเบิกค่ารักษาพยาบาลในอนาคต” พจนีแนะนำ
ข้อคิดอย่างหนึ่งคือ เราควรทำประกันสุขภาพตั้งแต่ตอนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการทำประกันสุขภาพก็ต่อเมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง หรือเป็นแล้ว ผลก็คือบริษัทประกันไม่รับ หรือรับแต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นอยู่ หรือบางคนรอให้อายุมากก่อนค่อยทำ ซึ่งเมื่ออายุมาก โรคภัยก็เยอะ ค่าเบี้ยประกันก็แพง โอกาสที่บริษัทจะรับก็น้อย หรือบริษัทอาจจะรับ เนื่องจากเราปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องสุขภาพ แต่ตอนเคลมค่ารักษา บริษัทตรวจพบว่าเป็นโรคที่เป็นมาก่อนและไม่แถลงข้อเท็จจริง ก็เคลมไม่ได้
เพราะฉะนั้นควรทำตั้งแต่เรายังมีสุขภาพแข็งแรง แต่อาจทำในวงเงินที่พอสมควรไม่ต้องสูงมากเกินไป เพราะความเสี่ยงยังน้อยอยู่ และปีต่อๆ ไปก็สามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

Oประกันบ้าน
          แค่ได้ยินคำว่าประกันภัยบ้าน คนส่วนใหญ่ก็นึกถึงภาระที่ต้องจ่ายขึ้นมาทันที แต่เมื่อความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน วันดีคืนดี เคราะห์หามยามร้ายอาจจะมาเคาะประตูบ้านคุณ ทำไมไม่เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วยการทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองบ้านหรือที่อยู่อาศัยของคุณ
เพียงคุณใช้เงิน 1% ของทรัพย์สินที่คุณมีอยู่ มาสร้างหลักประกันไว้ เพียงเท่านี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน บ้านที่คุณสร้างมาก็จะได้รับความคุ้มครอง
เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่มีค่าและสำคัญมาก แต่ไม่ว่าเราจะมั่นใจแค่ไหน มันอาจจะถูกบุกรุกคุกคามได้หลายรูปแบบ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหวัง, ลมพายุ, อุบัติเหตุจากยานพาหนะ, อัคคีภัย เป็นต้น
เมื่ออะไรก็เกิดขึ้นได้ คุณก็ควรหาความคุ้มครองจากประกัน เพื่อที่จะได้ชดใช้ทรัพย์สินของคุณที่สูญเสียไป ในขณะที่ทรัพย์สินและความทรงจำบางอย่างนั้น ไม่สามารถชดใช้แทนได้ แต่การประกันบ้านที่ดีนั้น สามารถช่วยทดแทนทรัพย์สินที่สูญเสียและเสียหายได้ เพื่อที่คุณจะได้ฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ประกันภัยบ้านบางประเภท ไม่เพียงแต่คุ้มครองบ้าน แต่ยังครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินส่วนบุคคลอีกด้วย คุณสามารถเลือกระดับความคุ้มครองที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับทรัพย์สินของคุณก่อนตัดสินใจทำ
ปัญหาคือทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามการทำประกันบ้านนอกเสียจากว่าคุณจะถูกบังคับไปโดยปริยายจากธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้คุณ ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะหลายคนเชื่อว่า โชคร้ายคงไม่เกิดกับคุณ
“การทำประกันอัคคีภัยให้กับบ้านและทรัพย์สินของคุณ เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจและสามารถแก้ปัญหาให้คุณได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันกับบ้านของคุณ จริงๆ แล้วเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้าน ที่บริษัทประกันทั้งหลายจะคิดกับคุณ นับเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับราคาบ้านของคุณทั้งหลัง ซึ่งอัตราโดยส่วนใหญ่มักจะขึ้นกับประเภทของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่คุณต้องการทำประกัน และการครอบคลุมประเภทของวินาศภัยที่จะเกิดกับบ้านของคุณ” พจนีแนะนำ

Oประกันรถยนต์
          ประกันอีกประเภทหนึ่ง ที่ถ้าคุณมีรถยนต์เป็นสมบัติส่วนตัว ก็ควรจะมีไว้ นั่นคือ ประกันรถยนต์ อย่างน้อยเวลาใช้รถสัญจรไปไหนมาไหน คุณจะได้อุ่นใจได้ว่าเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ประกันจะช่วยให้คุณคลี่คลายเรื่องยุ่งยากไปได้ระดับหนึ่ง
ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องการทำประกันรถยนต์ในเมืองไทยและที่ต่างประเทศ ก็คือ ที่ต่างประเทศจะมีทั้งการทำประกันรถและการทำประกันผู้ขับขี่ ซึ่งหมายถึงผู้เอาประกันสามารถไปขับรถคันไหนก็ได้ สัญญาการประกัน จะตามไปรับผิดชอบให้ แต่สำหรับเมืองไทยที่เห็นจะเป็นการทำประกันรถยนต์โดยตรง คือใครมาขับรถคันนี้ขอให้มีใบขับขี่ สัญญาการรับประกันก็จะรับผิดชอบให้
ปัญหาอย่างหนึ่งของการทำประกันรถยนต์ คือการเลือกบริษัทประกัน ที่ปัจจุบันมีให้เลือกหลายบริษัท จนคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี
ประการแรก น่าจะดูที่การให้บริการ ผู้ซื้อประกันหลายคนที่ต้องผิดหวังเมื่อโทรศัพท์เรียกใช้บริการหลังจากที่ประสบเหตุ แต่บางรายกลับต้องรอนานหลายชั่วโมง หรือบางคนรอเป็นวัน เวลาที่เจรจาเรื่องค่าซ่อม ฝ่ายเจ้าของรถก็อยากจะซ่อมให้ดีที่สุด ในขณะที่ฝ่ายบริษัทก็อยากจะจ่ายให้ถูกที่สุด จนบางครั้ง เจ้าของรถต้องยอมที่จะจ่ายส่วนต่างเอง
หากจะเลือกซื้อประกันกับบริษัทไหน จึงขอแนะให้ดูและหาข้อมูลเรื่องการให้บริการของบริษัทนั้นให้ละเอียด ถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์ทำประกันกับบริษัทนั้นมาก่อนก็ได้
อย่าคิดแค่ว่า ทุกวันนี้คุณขับรถด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว หรือไม่ได้ใช้รถบ่อยนัก ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะในความเป็นจริง มีโอกาสที่จะเกิดเรื่องร้ายและเรื่องผิดพลาดได้ตลอดเวลา กันไว้ดีกว่าแก้

Oประกันอุบัติเหตุ
          ขณะเดียวกัน ประกันอุบัติเหตุเป็นอีกอย่างหนึ่งที่พจนีแนะว่าควรจะมี เพราะในกรณีที่คุณเกิดอุบัติเหตุ ประกันจะให้ความคุ้มครองกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือค่าชดเชยจากอุบัติเหตุ
ในส่วนของค่าชดเชยกรณีเกิดอุบัติเหตุนั้น ยิ่งต้องเลือกที่ดีและสูง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มักจะทำให้ผู้เอาประกันไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานตามปกติได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดไป ก็ควรจะเลือกบริษัทที่จ่ายค่าชดเชยให้เป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนวงเงินเอาประกัน โดยมีกำหนดระยะเวลาสูงสุด
สำหรับประกันทุกประเภทนี้ ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ข้อสำคัญคือ เมื่อจะตัดสินใจทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ต้องศึกษาให้ถ้วนถี่ และเลือกให้เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตของคุณมากที่สุด
ทั้งหมดนี้ เป็นประกันประเภทต่างๆ ที่คุณควรจะมีติดตัวเอาไว้ เพราะโลกนี้อะไรก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.nationejobs.com