 คุณอาจเคยได้ยินข่าวเรื่องคนขี่สามล้อที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่1 ซึ่งได้รับเงินรางวัลเป็นสิบ ๆ ล้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี เขากลับไม่มีเงินเหลือแม้สักบาทเดียว สุดท้ายจึงต้องกลับมาถีบสามล้อใหม่อีกครั้ง อาจจะเป็นเรื่องน่าขำที่เกิดขึ้น แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ ของบุคคลที่ไม่มีการวางแผนหรือมีการวางแผนการเงินที่ไม่ดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
คิดว่าตัวเองมีรายได้เพียงพอสำหรับภาระค่าใช้จ่ายรายวันแล้ว
– ไม่ต้องการคิดในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตในทางไม่ดี เช่น การว่างงาน ทุพพลภาพ ความตาย
– ไม่มีเวลาที่จะจัดทำแผน
– คิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง
– ต้องการคงวิถีชีวิตของตนไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าสถานะการเงินของตนเองอยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้ว
– มักคิดว่าการวางแผนการเงินเหมาะสำหรับผู้ที่ใกล้เกษียณอายุเท่านั้น

 ดังนั้น ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณควรจะจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของการใช้เงินที่คุณวางแผนไว้เสียก่อน โดยคำนึงถึงช่วงอายุและรายได้ จะได้รับทั้งหมดเป็นสำคัญ

ช่วงอายุ (Life Cycle)
เป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่คุณควรใช้พิจารณาในการวางแผนการเงิน ผู้ที่มีอายุน้อยและมีรายได้อยู่ในช่วงเริ่มสะสมทรัพย์ มักจะนิยมออมเงินเพื่อมาซื้อทรัพย์สินเช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ทำให้เงินออมส่วนใหญ่มักจะจมไปกับการผ่อนหนี้ที่มัดตัวจนไม่สามารถนำไปลงทุนให้เงินงอกเงยได้เลย ดังนั้น คุณควรจะวางแผนว่ามีความ จำเป็นที่จะใช้สินทรัพย์ใดบ้าง ในช่วงอายุใดที่เหมาะสมจะซื้อ และต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้มา เมื่อทำงานได้จนสามารถสะสมทรัพย์สินตามที่ต้องการแล้ว คุณควรจะเริ่มลงทุนในสิ่งที่มั่นคงถาวรขึ้น เพื่อเป็นเงินออมสำหรับใช้เมื่อหลังเกษียณอายุ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเป็นอิสระทางการเงินเป็นสำคัญ

จากแผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงช่วงอายุของผู้ลงทุน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่เริ่มทำงานและสะสมทุนทรัพย
เป็นช่วงที่มีรายได้น้อยแต่สม่ำเสมอ โดยปกติแล้วรายได้มักจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามระดับความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และทักษะความรู้ที่พัฒนาขึ้นจากงานนั้นๆ

2. ขั้นตอนของชีวิตช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย
เป็นช่วงที่มีระดับความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด เนื่องจากคุณจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ส่วนหนี้สินที่มีนั้นลดลง จึงทำให้มีเงินส่วนที่เหลือไว้สำหรับการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี คุณควรจะเก็บเงินบางส่วนสำรองไว้สำหรับใช้ในช่วงเกษียณอายุด้วย

3. ขั้นตอนของชีวิตช่วงเกษียณอายุการทำงาน
คุณมีโอกาสน้อยที่จะหารายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้ทรัพย์สินที่สะสมและลงทุนไว้ เงินบำนาญ และเงินออมเพื่อเกษียณในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นช่วงที่คุณจะมีอิสระทางการเงิน

4. ขั้นตอนของช่วงปลายชีวิต
มีทรัพย์สินมากเกินกว่าจะใช้หมด จึงมีเหลือเผื่อแผ่เจือจุนให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

2.รายได้ที่ได้รับ (Income)
เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้จากเงินประจำเดือน จากธุรกิจส่วนตัว เงินจากมรดก หรืออื่น ๆ คุณควรจัดสรรเงินก้อนแรกไว้สำหรับค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวคุณและครอบครัว เช่น เงินค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น หลังจากที่เตรียมการขั้นพื้นฐานสำหรับชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว คุณควรจะตระหนักถึงค่าใช้จ่ายสำคัญที่คุณควรจัดเตรียมไว้ก่อนเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อคุณจะได้ไม่มีความกังวลใจและเครียดกับผลของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เงินสำรองนี้ควรเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถเบิกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น การฝากในรูปบัญชีออมทรัพย์
ภาระหนี้สิน ถือเป็นหน้าที่ของคุณตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ เพราะหากคุณไม่จ่ายตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินในครอบครองหรืออาจฟ้องล้มละลายได้
เงินสำหรับแผนการในอนาคต หากคุณมีแผนการที่ชัด-เจนเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ควรจะวางแผนเก็บเงินเพื่อแผนการนั้น โดยคำนวณจากเงินที่มีในปัจจุบันและรายได้ในอนาคต
เงินประกัน คุณอาจจะจัดทำประกันชีวิต หรือประกันอื่น ๆ ทั้งแก่ตัวคุณเองและสมาชิกในครอบครัวให้ ในกรณีที่คุณไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คุณสามารถวางแผนการเงินกระแสเงินสดอย่างง่าย ๆ โดยใช้ตัวอย่างแบบฟอร์มข้างล่างช่วยวิเคราะห์สถานะทางการเงินของคุณในช่วงเวลา 5 ปี
ขั้นตอนที่ 1 รวมรายได้ที่ได้รับทั้งหมด

รายได้ รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
เงินเดือนของคุณ
เงินเดือนคู่สมรส
โบนัส
เงินปันผล
ดอกเบี้ยรับ
รายได้อื่น ๆ
รายได้รวม (1)

ขั้นตอนที่ 2 หักค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรกสำหรับดำรงชีพ

ค่าใช้จ่าย รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
ค่าเช่า/ผ่อนบ้าน
ค่าน้ำค่าไฟ
ค่าอาหาร
ค่าเสื้อผ้า
ค่าพาหนะ
ค่าพักผ่อน เช่น ดูหนังฟังเพลง
ค่าใช้จ่ายรวม (2)

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจดูเงินสำรองฉุกเฉินว่ามีเพียงพอหรือไม่

เงินสำรอง เก็บเพิ่ม ปัจจุบัน 1 2 3 4 5
เงินฝากออมทรัพย์
เงินฝากหรือลงทุนในระยะสั้นอื่น ๆ
รวม (3)

ขั้นตอนที่ 4 จ่ายภาระหนี้สินที่จำเป็น (ถ้ามี)

หนี้สิน รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
หนี้บัตรเครดิต
เงินกู้ระยะสั้น
เงินกู้ผ่อนระยะยาว
เงินกู้เพื่อการศึกษา
อื่น ๆ เช่น ภาษีค้างจ่าย
รวม (3)

ขั้นตอนที่ 5 หักเงินสำหรับแผนการในอนาคต

ค่าใช้จ่ายอนาคต รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
ค่าดาวน์บ้าน/รถ
ค่าซ่อมแซมครั้งใหญ่
ทุนการศึกษาลูก ๆ
ค่าภาษีรายปี
อื่น ๆ เช่นแผนเกษียณ
รวม (5)

ขั้นตอนที่ 6 หักเงินค่าเบี้ยประกันเพื่อความมั่นคงในชีวิต (ถ้ามี)

เงินประกัน รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
ค่าประกันชีวิต
ค่าประกันรถ
ค่าประกันอื่น ๆ
รวม (6)


ขั้นตอนที่ 7 คำนวณหาเงินเก็บและเงินลงทุนที่คุณมี

หนี้สิน รายเดือน รายปี 1 2 3 4 5
รายได้รวม (1)
หักค่าใช้จ่ายประจำ (2)
หักเงินสำรองรวม (3)
หักหนี้สินรวม (4)
หักค่าใช้จ่ายอนาคต (5)
หักเงินประกันรวม (6)
เงินเก็บและเงินลงทุน

เรามาลองดูตัวอย่างของการใช้ตารางนี้ช่วยวางแผนทางการเงินในชีวิตจริงของคุณน้ำผึ้งซึ่งทำงานเป็นเลขาของผู้จัดการบริษัทส่งออกแห่งหนึ่ง มีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน และต้องการที่จะเก็บเงินไว้ซื้อทรัพย์สินที่จำเป็น เช่น บ้าน รถ ดูแลพ่อแม่ นอกจากนี้ ยังหวังจะเก็บเงินไว้ใช้ยามเจ็บป่วยและหลังเกษียณอีกด้วย

รายได้
รายเดือน
รายปี 1
2
3
4
5
รวม
เงินเดือนของคุณ 25,000 300,000 300,000 300,000 336,000 336,000 1,572,000
โบนัส (2 เดือน) 50,000 50,000 50,000 75,000 75,000 300,000
รายได้อื่นๆ 10,000 12,000 15,000 18,000 25,000 80,000
รายได้รวม (1) 360,000 362,000 365,000 413,000 436,000 1,952,000
ค่าใช้จ่าย
รายเดือน
รายปี 1
2
3
4
5
รวม
ค่าเช่าบ้าน 5,000 60,000 60,000 62,000 63,000 65,000 310,000
ค่าน้ำ ค่าไฟ 1,000 12,000 12,000 12,000 12,500 13,000 61,500
ค่าอาหาร 7,000 84,000 84,000 86,000 87,000 90,000 431,000
ค่าเสื้อผ้า
12,000 12,000 12,000 15,000 15,000 66,000
ค่าพาหนะ 3,000 36,000 36,000 36,000 40,000 40,000 188,000
ค่าพักผ่อน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง 1,000 12,000 12,000 12,000 15,000 15,000 66,000
ค่าใช้จ่าย (2) 216,000 216,000 220,000 232,500 238,000 1,125,000
เงินฝาก (3) 1,000 12,000 12,000 12,000 15,000 15,000 66,000
ค่าบัตรเครดิต (4) 1,000 12,000 12,000 12,000 15,000 15,000 66,000
เก็บสำหรับค่าดาวน์รถ (5) 2,500 30,000 30,000 30,000 45,000 45,000 180,000
อื่นๆ เช่น แผนเกษียณ (5) 1,250 15,000 15,000 15,000 18,000 18,000 81,000
รวม (2+3+4+5) 285,000 285,000 289,000 325,500 331,000 1,515,500
เงินเก็บและเงินลงทุน
(1)-รวม(2+3+4+5)
75,000 77,000 76,000 87,500 105,000 420,500

หลังจากที่น้ำผึ้งได้จัดการวางแผนการเงินแล้ว เธอเริ่มหายกังวลว่าในอนาคต เธอจะมีเงินเพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินที่ต้องการ และเหลือไว้ใช้ยามเกษียณตามที่เธอวางแผนไว้ได้หรือไม่ เพราะเมื่อดูจากตารางแล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อเธอทำงานได้ 5 ปี เธอจะสามารถ
– ดาวน์รถจากเงินที่เก็บสะสมไว้เป็นจำนวน 180,000 บาท
– มีเงินฝากสำรองฉุกเฉินยามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น 66,000 บาท
– มีเงินเก็บและลงทุนสะสมเป็น 420,500 บาท ซึ่งเธอสามารถนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อทำให้เงินที่มีอยู่เพิ่มขึ้น และมีเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคในอนาคตได้
– นอกจากนี้ น้ำผึ้งยังไม่ต้องห่วงเงินทองที่จะเก็บไว้ใช้หลังเกษียณอายุอีกด้วย เนื่องจากเธอสำรองไว้ในแต่ละปีของทางการทำงานแล้ว เช่น ในระยะ 5 ปี จะมีทั้งหมด 81,000 บาท
ในตอนนี้ น้ำผึ้งพร้อมที่จะลงทุนอย่างสบายใจ เพราะถึงแม้ว่าผลการลงทุนอาจจะไม่เป็นอย่างที่เธอคาดคิดไว้ เธอก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และไม่ต้องกลัวว่าจะต้องลำบากเพราะมีเงินใช้ไม่พอเลย หากแต่สิ่งที่เธอจะคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เงินสะสมที่มีอยู่เจริญงอกงาม และสามารถเป็นแรงหนุนช่วยให้เธอทำความฝันในชีวิตเป็นจริงได้

เมื่อคุณวางแผนการเงินเรียบร้อยแล้ว คุณก็จะทราบว่าคุณมีเงินเก็บและเงินลงทุนเท่าไหร่ และเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ความฝันในชีวิตของคุณเป็นจริงตามที่ตั้งใจไว้

ที่มา: http://www.bla.co.th/th/Elearning/pf.asp?p=1#part1