คุณชินกร  ไกรลาศ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2542 (นักร้องเพลงลูกทุ่ง)

          คุณชินกรเป็นนักร้องลูกทุ่งที่ประยุกต์เพลงพื้นบ้านมาผสมผสานกับการแสดงดนตรีลูกทุ่งในหลายลักษณะ ทั้งลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว จนได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ในปี พ.ศ. 2542 ท่านได้ให้ความไว้วางใจทำประกันกับ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต เป็นจำนวนเงินนับล้านบาท โดยอยู่ในความดูแลของคุณพิษณุ สำเภาเงิน ผู้จัดการหน่วยตวงทอง 96A

เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งตั้งแต่วัยเยาว์
          “ชื่อเดิมของผมคือ ชิน ฝ้ายเทศ เป็นคนกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย คุณพ่อมีอาชีพทำนา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคุ้งยาง และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยครูธนบุรี ผมสนใจฝึกร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เล็ก เป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงในหมู่บ้านจนกระทั่งอายุ 16 ผมกับเพื่อนรักชื่อ ประคอง สินจันทร์ จึงเข้าไปสมัครเป็นนักร้องของวงดนตรี พยงค์ มุกดา เพื่อนผมได้รับเลือกคนเดียวจนภายหลังประสพความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังในชื่อ “ทิว สุโขทัย” หลังจากนั้นเขาก็ได้ช่วยพูดกับพยงค์ มุกดา ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้ามาในวงเมื่อปี 2506 ในฐานะเพื่อนของนักร้อง คอยหิ้วกระเป๋าตามเขาไป และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ มีโอกาสร้องเพลงบ้างในยามที่ขาดนักร้องหลัก จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่าปีก็ได้รับโอกาสให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ในเพลง “ลูกทุ่งรำลึก” โดยครูพยงค์เป็นผู้ตั้งชื่อ “ชินกร ไกรลาศ” ให้ ซึ่งมีที่มาจาก อ.กงไกรลาศ แต่คำว่า กง มันดูกระกระด้างจึงเปลี่ยนเป็น กร ที่แปลว่ามือแทน ชิน-นะ แปลว่าผู้ชนะรวมกันเป็น ชินกร แปลว่าผู้ชนะด้วยมือ ขื่อนี้ก็เลยเหมือนกับตัวของผมเอง คือการที่เราจะชนะอะไรก็ต้องอาศัยมือทำ จนมาเป็นนักร้องเต็มตัวเมื่อปลายปี 2508”

ตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง
          “หลังจากบันทึกแผ่นเสียง ผมก็เริ่มเป็นที่รู้จักและมีงานเพลงออกสู่สาธารณะมากขึ้น ทำให้บางคนอิจฉาตาร้อน กลั่นแกล้งและใส่ร้ายจนผมอยู่ตรงนั้นไม่ได้ จึงได้ออกมาตั้งวงดนตรี “ชินกร ไกรลาศ” เป็นของตัวเอง เมื่อปี 2510 โดยมีเพื่อนบางคนที่เขาทนไม่ได้แบบผม เช่น พจน์ พนาวัลย์ ที่ร้องเพลงดังในแนวเดียวกันยุคนั้นก็ออกมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำวงนี้ขึ้นมา เหมือนจอมปลวกที่ค่อยๆ ก่อขึ้นไปเรื่อยๆ”

เกียรติคุณที่ได้รับ
          “ปี 2512 ระหว่างที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงเพชรร่วงในสลัม ให้ผมร้อง พยงค์ มุกดา ก็ได้แต่งคำร้องเพลงยอยศพระลอ โดยนำทำนองเพลงลาวกระทบไม้มาใส่ และผมเป็นผู้มีโอกาสได้ขับร้องเพลงนี้ จนกลายมาเป็นเพลงที่สร้างชื่อนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ผมได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ ปี 2513 และรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากการขับร้องเพลงยอยศพระลอเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2514 และปี 2552”
“นอกจากนี้ผมยังได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทนักร้องลูกทุ่งดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 ปี 2532 และครั้งที่ 2 ปี 2534 รางวัลพระราชทานนักร้องเพลงไทยผู้ออกเสียงภาษาไทยถูกต้อง เนื่องในงานสัมมนาการใช้ภาษาไทยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2534 รางวัลชมเชยการประกวดเพลงเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ปี 2534 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2537 จนกระทั่งปี 2542 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) รวมทั้งได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 7 มกราคา 2545”

ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
          “รางวัลที่ผมได้รับล้วนเป็นเกียรติยศที่เกิดจากความดี ความถูกต้อง ที่ผมได้นำเอาเพลงพื้นบ้านต่างๆ มาผสมผสานกันเข้ากับการแสดงดนตรีลูกทุ่งจนเป็นผลสำเร็จ ทำให้ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้นำความรู้ด้านนี้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการขับร้องเพลงพื้นบ้าน การพูด การใช้ภาษากับเพลงพื้นบ้าน การแหล่ การทำขวัญนาค แก่นักเรียนนักศึกษาตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนต่อเนื่องเรื่อยมา โดยขณะที่ทำวงดนตรีอยู่นั้น ก็ได้รับทำขวัญนาคด้วย ซึ่งเป็นงานที่ทำต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน”

มีความสุขกับชีวิตครอบครัว
          “ผมแต่งงานมีครอบครัวเมื่อปี 2516 กับคุณสุชาดา ฝ้ายเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเจอกันมาก่อนในงานบวชน้องชาย ส่วนเขาก็บวชพี่ชายเลยได้คุยกัน ผมทำตามคำแนะนำของพี่ชายที่บอกให้เลือกภรรยาที่เป็นคนใจบุญอย่างพี่สะใภ้ เพราะถ้าเราเลือกผู้หญิงจากสถานที่บันเทิง พอเขากลุ่มใจมีปัญหา เขาก็จะหลบเข้าไปหาที่บันเทิง ปัญหามันก็จะไม่สิ้นสุด แต่ถ้าอีกคนหนึ่งมีปัญหาและหลบไปวัด ปัญหามันจะหมด ซึ่งผมพบกับคุณสุชาดาที่วัดเพราะเธอเป็นทั้งคนใจดีและใจบุญนั่นเอง ปัจจุบันมีลูก 3 คน ชาย 1 หญิง 2 คนโตอายุ 36 ปี จบปริญญาเอกแล้วไปทำงาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คนที่ 2 จบเพาะช่าง ไปเรียนที่นิวยอร์ก และมีครอบครัวอยู่ที่นั่น ส่วนลูกสาวคนสุดท้าย รุ่งรัศมี ฝ้ายเทศ จบการศึกษาจากสถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สาขานิเทศศาสตร์ ตอนนี้ก็มาช่วยผมทำขวัญนาคและช่วยร้องในวง”

วางแผนในอนาคต
          “ลองสังเกตดูก็ได้ ถ้านักร้องอายุ 70 ปีไปแล้ว คุณภาพของเสียงและพลังมันจะด้อยลง ตอนนี้ผม 65 เหลือเวลาอีกแค่ 5 ปี ก็เคยคิดว่าผมควรจะทำอะไร จะทำการค้าก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะวิชาความรู้ที่เรามีอยู่เนี่ย เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ มันเป็นวิชานอกระบบที่ประสพความสำเร็จมากกว่าในระบบ งานของผมตอนนี้คือการถ่ายทอดประสบการณ์ ผมไม่อยากสอนนักเรียนหรอก แต่อยากสอนครู เพื่อครูจะได้ไปสอนเด็กต่อ ห้องเรียนที่ผมสอนจะต้องไม่ใช่ห้องแคบๆ ที่กว้างแค่ 4×8 ม. แต่ผมอยากจะเอารูปขวานที่เป็นแผนที่ประเทศไทยนี้แหละเป็นห้องเรียนที่ผมสอน วิธีก็คือ สร้างงานออกมา เพราะมันลอยไปที่ไหน ผมก็สอนที่นั่น ซึ่งมันจะอยู่ได้อีกนาน มันเป็นวิธีคิดโดยใช้ปรัชญาดอกไม้ ซึ่งเป็นปรัชญาธรรมชาติ เพราะดอกไม้มันไม่เคยเร่ไปหาใคร มีแต่แมลงที่มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากดอกไม้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากได้อะไรจากผมเขาจะเข้ามาหาผมเอง โดยที่ผมไม่ต้องไปเสียเงินจ้างให้ใครมาโปรโมทอะไรให้”

รู้จักวงการประกันชีวิตได้อย่างไร
          “เพราะญาติมาขอให้ทำประกัน ผมก็ดูว่าเงื่อนไขนั้นไปกับเราได้หรือเปล่า เมื่อมันตอบโจทย์เราได้ผมก็ทำแบบง่ายๆ เท่าที่ทำได้ โดยเลือกที่จะไม่ต้องส่งรายเดือน ไม่ต้องส่งรายปี มีแค่สิบบาทก็ซื้อสิบบาท แล้วสิบบาทมันก็ทำงานของมัน พอตอนหลังผมมารู้จักคุณจอย (พวงทิพย์ นาคเป้า) พอเขามาเสนอผมก็เลือกที่จะทำประกันกับอยุธยาฯ โดยทำกับคุณจอย เพราะชอบที่เขาดูแลเราดี ไม่มีบิดเบือนอำพราง มีเงื่อนไขอะไรก็บอก ซึ่งเปรียบเทียบแล้วดีกว่าที่อื่น ดีกว่าฝากธนาคาร ดีกว่าไปซื้อธนบัตร ซึ่งแน่นอนผมก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว”

ความคิดเห็นเกี่ยวกับประกันชีวิต
          “เราต้องไม่มีอคติ ต้องดูเหตุผล หรือถ้าคุณพูดเพื่อให้ผมศรัทธา และมันเกินกำลังมันก็ไม่ใช่ เงินที่จะทำประกันชีวิตต้องไม่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของเรา เหมือนเราดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ใช่กู้เงินมาทำประกันชีวิตอย่างนั้นไม่ใช่ ตรงกับข้ามเงินที่เราลงทุนไปนั้นจะต้องให้ผลประโยชน์กับเรา เช่น ซื้อประกันมาล้านหนึ่ง ได้ดอกเบี้ย 4-6% แต่ในขณะเดียวกันธนาคารให้แค่บาทกว่าๆ เท่านั้น อย่างผมเคยไปทำกับบริษัทหนึ่ง ซื้อให้ลูกและภรรยาคนละล้าน ได้ดอกเบี้ย 6% ผมมีความรู้สึกว่าเงินไม่ได้นอนนิ่ง แต่มันทำงานให้เรา ถ้าเราฝากต่อ มันก็จะงอกต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะมีแค่หนึ่งล้าน ตัวเลขก็งอกไปตามสัดส่วนของมัน แต่ถ้าเราเอามาใช้มันก็จบแค่นั้น

ข้อแนะนำสำหรับคนที่ไม่มีประกันชีวิต
          “ถ้ามีความพร้อมก็อยากแนะนำว่าให้ทำ แต่ถ้าไม่พร้อมก็อย่าทำให้ตัวเองเดือดร้อน อย่าไปศรัทธาเกินกำลัง เพราะถ้าเราทำไปตามคำเชิญชวน หรือคำป้อยอต่างๆ อย่างนั้นถือว่าอันตราย แต่ถ้าเรามีความพร้อมว่ารายได้ของเรา กับการที่เราไปซื้อประกันมันไปกันได้แบบสบายๆ เพิ่มพูนผลประโยชน์ให้เราได้ก็ค่อยทำ”

ความคิดเห็นกับตัวแทนประกันชีวิต
          “ตัวแทนที่ดีอย่าหวังแต่ได้อย่างเดียว อะไรเสียสละได้ก็ต้องทำ ควรแสดงให้ลูกค้าดูว่ากรมธรรม์แบบไหนมีดีอย่างไร และเงื่อนไขไหนที่น่าสนใจและเหมาะกับลูกค้า เมื่อคุณแสดงความบริสุทธิ์ จริงใจ ขยัน ก็จะเป็นตัวแทนที่ดีได้ ไม่ใช่พอได้ลูกค้าเก็บเบี้ยมาแล้วก็หายไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ดี”

สนับสนุนให้ลูกมาเป็นตัวแทน
          “การที่ผมมีอาชีพเป็นนักร้อง ทำให้มีโอกาสเห็นโลกกว้างเยอะ ได้ไปในที่ต่างๆ มากมาย ผมจึงไม่ตื่นเต้นกับกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทฯ จัด ไม่ว่าจะเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ แต่ที่ผมสนับสนุนให้ลูกมาเป็นตัวแทนเพราะอยากจะสร้างโอกาสให้เขา อะไรที่จะสนับสนุนให้เขามีประสบการณ์ชีวิตได้ก็ทำ เผื่อลูกไม่มีโอกาสเช่นผม”

ความคิดเห็นของคุณรุ่งรัศมี (ลูกสาว) กับอาชีพตัวแทนประกันชีวิต
          “ช่วงนั้นเริ่มรู้สึกว่าอยากจะมีเงินออมเงินเก็บมากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร พอได้มารู้จักกับพี่จอย ซึ่งมาคุยเรื่องประกันกับคุณแม่ จึงลองศึกษาเกี่ยวกับประกันชีวิตดู พอศึกษาไปก็ต้องมีการสอบเป็นตัวแทน เราก็คิดว่าดีตรงที่ว่าจะได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ด้วยตัวเอง ตอนนี้เลยทำเป็นงานอดิเรกไปก่อน เพราะงานที่ทำกับคุณพ่อค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน อยากจะบอกว่าการทำประกันชีวิตไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือคิดว่าทำไปแล้วตัวเองไม่ได้ใช้นั้นก็ไม่ใช่ ถ้าเข้ามาศึกษาจริงๆ จะเห็นว่าประกันชีวิตมีข้อเสนอมากมายที่น่าสนใจ ทั้งการออมระยะสั้น ระยะยาว ออมเอาไว้ใช้ตอนหลังเกษียณก็มี ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็นการไม่ประมาทกับชีวิต เพราะถ้าเราเจ็บป่วยแล้วเป็นอะไรไป อย่างน้อยคนข้างหลังเราก็ไม่เดือดร้อน หรือในอนาคตถ้าเราไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพแล้ว ประกันชีวิตจะเป็นตัวที่ดูแลตัวเราเองได้ การเลือกประกันชีวิตก็ควรเลือกบริษัทที่ดูแล้วมั่นคง ต่อมาก็เป็นตัวแทน ถ้าเรารู้สึกว่าเราไว้ใจเขาได้ และเขาให้คำปรึกษาแนะนำแบบประกันที่เหมาะกับเราได้ก็จะดีค่ะ”

โครงการที่จะสืบสานศิลปะพื้นบ้านในอนาคต
          “ตอนนี้ผมกำลังออกผลงานชุดทำขวัญนาคเป็นซีดีขึ้นมา ก็ได้ลูกสาวมาช่วยร้องบ้าง ผมหวังว่าใครที่สนใจวิชาด้านทำขวัญนาค จะได้เอาตรงนี้ไปเป็นต้นแบบได้ เพลงของเราเป็นเพลงปลุกเสกไม่ใช่เพลงปลุกเซ็กส์ ของเราเป็นธรรมารมณ์ ไม่ใช่กามารมณ์ จึงมีช่องว่างให้เราอยู่ได้โดยไม่ต้องไปเผชิญกับค่ายเพลงใหญ่ๆ ตอนนี้ที่เป็นของเราเองไม่เกี่ยวกับทำให้คนอื่นออกมาทั้งหมด 20 ชุด กำลังจะออกอีก 2 ชุด เราผลิตเองทั้งหมด 80-90% เพราะมีห้องอัดเป็นของเราเอง”

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจเพลงพื้นบ้าน
          “จริงๆ แล้วภูมิปัญญาของคนไทยเรา ตรงนี้น่าใจหายเหมือนกัน เพราะเด็กรุ่นหลังเราค่อนข้างลืมรากเหง้า มัวไปหลงวัฒนธรรมของต่างชาติ แต่เรื่องปัญญากับอารมณ์นี่มันพูดแทนกันไม่ได้จริงๆ เขามีปัญญาแค่ไหน อารมณ์เขาก็มีอยู่แค่นั้น ปัญญากับค่านิยมจะไปคู่กัน ฉะนั้นวันเวลาจะสอนให้เขารู้ว่า เขาควรจะเอาอย่างง่ายๆ หรือจะเอาอย่างยากๆ เอาอย่างง่ายๆ ก็อยู่แค่ ป.4-ป.6 เอาอย่างยากๆ ก็จะได้ปริญญาโท ปริญญาเอก”

ปลุกปั้นลูกศิษย์สืบทอดเจตนา
          “มักจะมีคนถามผมว่า มีศิษย์คนไหนที่จะสืบทอดได้บ้าง ผมอยากจะบอกว่าอย่าไปคาดหวังกับใคร ใครจะมาเรียนกับผม ผมไม่ปฏิเสธ แต่คุณลองทบทวนดูว่าคุณมีความกตัญญูในจิตใจไหม ถ้าคุณไม่มีแล้วเราจะไปสอนคนอกตัญญูทำไมให้เขาไปคิดด้วยตัวเองก่อน ส่วนลูกๆ ถ้าจะให้เขาเจริญรอยตามก็ต้องใช้จิตวิทยา เมื่อก่อนผมแต่งเพลง เวลานั่งทานข้าวก็จะเขียนไว้บนบอร์ดให้ทุกคนในครอบครัวช่วยดู ใครชอบคำไหนหรือไม่ชอบคำไหนก็ค่อยแก้ไข ให้เขาร่วมเป็นเจ้าของเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน เขาจะได้รักและภาคภูมิในสิ่งที่เป็นของเขา แต่พอโตขึ้นลูกๆ ก็ไม่ได้มาทางนี้เลย ทุกคนต่างมุ่งไปในวิชาชีพที่ตนเองเรียน แต่ตอนนี้ผมก็พยายามฝึกลูกสาวคนเล็กให้หัดร้องแลทำขวัญนาคเพื่อสืบทอดศิลปะตรงนี้ต่อไป”
ถ้าถามว่าคุณรู้จักเพลงพื้นบ้านอะไรบ้าง และร้องกันได้บ้างไหม คงจะมีส่วนน้อยที่ตอบได้ แต่อยากจะขอร้องให้ช่วยกันฟังและสนับสนุนเพลงและศิลปะพื้นบ้านของเราไว้บ้างนะค่ะ เพราะมันคือศิลปะของคนไทย และไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน อาชีพอะไร ประกันชีวิตก็จะมีอยู่คู่กับคุณเสมอ

ที่มา : STAR Magazine ฉบับที่ 5 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553