ความเข้าใจผิด 10 ประการเกี่ยวกับการวางแผนการเงินบุคคล
วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ แล้ว ทำให้ไม่อับจนตกทุกข์ได้ยากในอนาคต แต่ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนการเงินบุคคลของคนไทย ส่วนใหญ่ยังมีเพียงหยิบมือเดียว แถมความเข้าใจในหลายๆ เรื่อง ยังเป็นความเข้าใจที่ผิดๆ อาชีพนักวางแผนการเงิน หรือ Financial Planner เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องฝ่าด่านความเข้าใจที่ผิดจำนวนไม่น้อย กว่าที่จะเข้าถึงหัวใจของผู้ที่เห็นความสำคัญในเรื่องการวางแผนการเงินได้
1. การวางแผนการเงินบุคคลเป็นเรื่องของคนรวยไม่ใช่เรื่องของคนจนและคนเกือบจน (ฐานะปานกลาง)
นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะวางแผนการเงินของตนเอง ความจริงแล้วการวางแผนการเงินเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทุกระดับฐานะการเงินไม่ว่าจะมีหรือจน
จริง ๆ แล้วคนฐานะปานกลางลงมามีความจำเป็นที่ต้องการแผนการเงินที่มากกว่ากลุ่มคนรวยเสียอีกเพื่อให้หลุดพ้นจากความจนหรือปัญหาภาระหนี้สิน เพียงแต่ระดับความลึกหรือความซับซ้อนของแผนอาจจะไม่มากเท่ากรณีของกลุ่มคนรวยที่มีทางเลือกในการวางแผนและความซับซ้อนที่มากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีปัญหาการเงินที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามีการวางแผนการเงินที่ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รู้ที่มาที่ไปของเงิน ลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีรายรับสุทธิภายหลังหักค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น นำไปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ และมีวินัยที่จะทำอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ฐานะการเงินดีขึ้นได้
2. รวยแล้วไม่จำเป็นต้องวางแผนการเงินก็ได้
คนส่วนใหญ่มักจะชะล่าใจและมั่นใจมากเกินไปในฐานะและความมั่งคั่งที่ตนเองมีอยู่ทำให้ไม่สนใจที่จะวางแผนการเงิน โดยคิดว่าการวางแผนการเงินจะช่วยให้รวยขึ้น ดังนั้นถ้าตนเองรวยอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวางแผนการเงินก็ได้ ทำให้เกิดความประมาทไม่ระมัดระรัง และอาจนำมาซึ่งความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินทำให้ความมั่งคั่งลดลง และอาจจะรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้คนรวยกลายเป็นคนล้มละลายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
กรณีของนักมวยชื่อดัง ไมค์ ไทสัน ในสมัยที่รุ่งๆ ขึ้นชกแต่ละครั้งได้ค่าตัวไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 1,000 ล้านบาทต้นๆ) มีฐานะทางการเงินมั่นคง เคยมีทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากการชกมวยมากมายถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 10,000 ล้านบาทต้นๆ) ทว่า จากขาดการวางแผนการเงินที่ดี หลังเลิกอาชีพจากการเป็นนักมวย ทรัพย์สินเงินทองค่อยๆ ร่อยหรอลงทุนวันและประสบกับปัญหาการเงิน และในปี 2546 ไมค์ ไทสันถูกประกาศเป็นบุคคลล้มละลาย และทุกวันนี้เขาต้องตระเวนชกมวยโชว์ทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเงินที่ได้มาจ่ายหนี้สินที่มีอยู่ล้นพ้นตัว
3. การวางแผนการเงินที่ดีช่วยให้ทุกคนรวยเท่าเทียมเสมอกัน
การวางแผนการเงินที่ดีและการมีวินัยในการปฏิบัติตามแผนการเงินดังกล่าวอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้มีฐานะการเงินดีขึ้นรวยขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรวยเท่าเทียมกันได้ทุกคน เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของความมั่งคั่งพื้นฐานหรือความรวยดั้งเดิมที่มีอยู่ของแต่ละคนที่ต่างกันซึ่งเป็นฐานของการต่อยอดความรวยในอนาคต “ถ้าอย่างนั้นการวางแผนการเงินจะมีประโยชน์อะไร?” การวางแผนการเงินถึงแม้จะไม่ได้ช่วยให้รวยเท่าเทียมกันได้ แต่จะช่วยให้สามารถบรรลุถึงความพึงพอใจที่เท่าเทียมกันได้
เมื่อสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินตามที่ตั้งใจและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ถึงแม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะมีมูลค่าทางการเงินที่ต่างกันก็ตาม เช่น นาย ก. และนาย ข. มีความแตกต่างกันที่ฐานะเงินทอง โดย นาย ก. มีทรัพย์สินเงินทองในหลักร้อยล้านบาท ส่วนนาย ข. มีเพียงหลักล้านต้นๆ แต่ทั้งสองมีความตั้งใจที่เหมือนกันคือ ต้องการมีบ้านอีกหลังหนึ่งในอีกห้าปีข้างหน้า ต่างกันตรงที่บ้านที่ทั้งคู่คาดหวังในอนาคตแน่นนอนย่อมมีมูลค่าที่ต่างกัน เนื่องจากฐานะการเงินที่ต่างกัน
โดย บ้านที่นาย ก. ต้องการมีราคาหรือมูลค่าสูงกว่ามูลค่าหรือราคาของบ้านที่นาย ข. ต้องการ และเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปห้าปี การมีแผนการเงินที่ดีและการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งคัดช่วยให้ทั้งคู่สามารถมีบ้านตามที่ตั้งใจหรือตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ ซึ่งการบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินดังกล่าวทำให้ทั้งคู่มีความพึงพอใจและมีความภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกันถึงแม้ว่าบ้านทั้งสองหลังจะมีราคาที่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินหรือระดับความรวยที่ต่างกัน
4. การวางแผนการเงิน คือ การวางแผนการลงทุนหรือแผนการประกัน
ถ้าพิจารณาในเชิงแนวคิด (Conceptual level) ความหมายของการวางแผนการเงินครอบคลุมในสามส่วน ทั้งในส่วนของ การคุ้มครองความมั่งคั่ง (Wealth protection) เพื่อให้ทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมไม่เสื่อมค่าหรือลดน้อยถอยลง การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth creation) เพื่อให้มีทรัพย์สินมากขึ้นกว่าที่มีอยู่เดิม และการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth distribution) เพื่อส่งต่อทรัพย์สินที่ได้สั่งสมมาต่อไปให้แก่ลูกหลานหรือทายาทรวมถึงไว้ใช้ส่วนตัวในตอนบั้นปลายภายหลังเกษียณ
จากความหมายในเชิงแนวคิดจะนำไปสู่แผนการปฏิบัติ ที่ประกอบด้วย การวางแผนการประกันภายใต้กรอบแนวคิดเพื่อคุ้มครองความมั่งคั่ง การวางแผนภาษีเพื่อให้มีภาระภาษีที่ลดลงและมีรายได้สุทธิภายหลังภาษีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนการลงทุนที่จะช่วยให้ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่งอกเงยเพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิดของการสร้างความมั่งคั่ง และแผนปฏิบัติการสุดท้ายคือ การวางแผนมรดกและแผนเพื่อวัยเกษียณ ภายใต้แนวคิดของการกระจายความมั่งคั่ง
5. การวางแผนการเงินเหมือนการแช่งตัวเอง
ตามทัศนคติเดิมๆ บางคนมักคิดว่าการทำประกัน เป็นการแช่งตัวเอง บวกกับความเข้าใจที่ว่าการวางแผนการเงิน คือ การวางแผนประกัน ทำให้เกิดทัศนคติต่อการวางแผนการเงินบุคคลในแง่ลบ และละเลยไม่ให้ความสนใจการวางแผนการเงิน
ในความเป็นจริงแนวคิดของการประกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นการเฉลี่ยความสูญเสียที่ตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินที่เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งไปในคนหมู่มากให้เข้ามาช่วยแบ่งเบา ทำให้บุคคลดังกล่าวและคนหมู่มากที่เข้ามาร่วมเฉลี่ยความสูญเสีย สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้มาตรฐานการดำรงชีพที่ไม่แตกต่างจากเดิม
ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหนึ่งมีบ้านอยู่ 100 ครัวเรือน และทุกปีจะเกิดอุทกภัยทำให้บ้านหลังใดหลังหนึ่งพังเสียหายต้องทำการปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินมากถึง 100,000 บาท ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านดังกล่าวจึงคิดตกลงกันว่าทุกบ้านจะออกเงินบ้านละ 1,000 บาททุกปี เก็บไว้ที่ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าบ้านของลูกบ้านคนใดถูกน้ำพัดพังลงไปสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปสร้างบ้านขึ้นมาใหม่
จะเห็นได้ว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านหลังที่ถูกน้ำพัดพังลงไปและบ้านหลังอื่นๆ ในหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องมาจากแนวคิดของการประกันเป็นการเฉลี่ยความเสียหายไปให้คนหมู่มาก ทำให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
จะเห็นได้ว่าการวางแผนการประกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งได้ตลอดเวลา ช่วยให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ ไม่ใช่การแช่งตัวเองตามทัศนคติที่เชื่อกันมาแบบผิดๆ
6. การวางแผนภาษีกับการหนีภาษีเป็นเรื่องเดียวกัน
ข้อเท็จจริงคือทั้งสองเรื่องต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะให้ผลสุดท้ายที่เหมือนกันก็ตาม คือ ช่วยให้มีเงินเหลือเก็บภายหลังจากหักภาระภาษีมากขึ้น แต่มีวิธีการและให้ผลทางกฎหมายที่ต่างกัน โดย การหนีภาษีเป็นการหลีกเลี่ยงหรือมีเจตนาที่จะไม่เสียภาษีหรือเสียน้อยลง เช่น การยื่นแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนหรือต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้มีภาระภาษีน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่การวางแผนภาษีเป็นการอาศัยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เพื่อช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติตามสามารถลดหย่อนภาระภาษีที่ต้องเสียให้แก่รัฐลงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำเงินที่ประหยัดจากภาระภาษีที่ลดลงไปใช้ในการออม การลงทุน และในด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง
7. การวางแผนเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องอนาคต
เป็นเรื่องของคนที่เข้าใกล้วัยเกษียณเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และบางส่วนที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัยกลางคนมักจะละเลยและผลัดวันประกันพรุ่งเรื่องการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ โดยมองว่าเป็นเรื่องระยะยาว ไว้ไปเริ่มในช่วงที่ใกล้วัยเกษียณ และไปทุ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเงินระยะสั้น เช่น การมีของใช้ส่วนตัวที่มีราคา การมีรถยนต์ และการมีบ้าน
ทำให้เงินออมทั้งหมดที่มีถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น ทำให้ไม่มีเงินออมเหลือเพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ ผลคือ มีชีวิตบั้นปลายภายหลังเกษียณที่ยากลำบาก เป็นภาระของญาติพี่น้อง ลูกหลาน หรือเป็นภาระของสังคม
แต่ไม่ได้หมายความว่าควรที่จะละเลยเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นเพื่อเก็บออมไว้สำหรับใช้ในวัยเกษียณแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นทำให้ขาดความรื่นเริงในการดำเนินชีวิต แต่ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าถ้ามีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณแต่เนิ่นๆ เริ่มตั้งแต่วันนี้ มีการจัดสรรเงินออมส่วนหนึ่งเพื่อเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นและอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป้าหมายในวัยเกษียณ โดยนำไปออมหรือลงทุนอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น และผลตอบแทนจากการลงทุนจะช่วยให้เงินออมเพื่อวัยเกษียณจำนวนดังกล่าวงอกเงยต่อเนื่อง
แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวช่วยให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นได้มีความสุขกับการดำเนินชีวิต และมีชีวิตบั้นปลายภายหลังเกษียณอย่างมีความสุขตามที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงินไม่เป็นภาระของใคร ดังนั้นสองสิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอ คือ การออมหรือการวางแผนเพื่อวัยเกษียณยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่ง และไม่ควรมองข้ามการออมถึงแม้ว่าออมน้อยแต่ถ้าออมบ่อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามกำลังทรัพย์ที่มากขึ้น ก็จะช่วยให้มีชีวิตบั้นปลายภายหลังเกษียณอย่างมีความสุข
8. แผนการเงินของใครก็เหมือนๆ กัน
ลองนึกถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เช่น เสื้อบางตัวถึงแม้ว่าจะเป็นแบบเดียวกัน สีเหมือนกันแต่ก็ยังต้องมีขนาดที่ต่างกันทั้ง ขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ สำหรับแต่ละคนที่มีขนาดตัวที่ต่างกันจะเห็นได้ว่าเสื้อแบบเดียวกัน ยังต้องมีหลากหลายขนาดเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของแต่ละคนที่มีขนาดตัวที่ต่างกัน
แผนการเงินของแต่ละบุคคลก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมือนกันแต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันเนื่องจากแต่ละคน มีเงื่อนไขข้อจำกัดเฉพาะบางประการ เป้าหมายและฐานะทางการเงินที่ต่างกัน ย่อมต้องการวิธีการและแผนการเงินในรายละเอียดที่ต่างกันไป ดังนั้นแผนการเงินของใครก็ตามจะเป็นแผนเฉพาะที่ตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ในบางครั้งอาจนำไปปรับใช้กับบุคลลอื่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะและฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกันได้ แต่จะขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ และอาจนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดี ถ้าจะเปรียบเทียบกับขนาดของเสื้อ การทำแผนการเงินบุคคลเปรียบเสมือนเสื้อที่มีการวัดตัวตัดให้พอดีเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ใช่เสื้อสำเร็จรูปทั่วไป
9. แผนการเงินทำครั้งเดียวก็ใช้ได้ตลอด
ในข้อที่ 8 ได้เปรียบเทียบแผนการเงินบุคคลเหมือนกับเสื้อผ้าที่มีการวัดตัวตัดให้พอดีเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัดส่วนโครงสร้างร่างกาเปลี่ยนไปอาจจะอ้วนขึ้น ผอมลง หรือสูงขึ้น เสื้อผ้าที่เคยพอดีอาจกลายเป็นคับหรือหลวม ต้องมีการปรับแก้ไขใหม่ให้พอดี หรืออาจจะต้องมีการวัดตัวตัดใหม่ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้
แผนการเงินก็เช่นเดียวกัน พัฒนาขึ้นมาบนเงื่อนไข ข้อจำกัดหรือฐานทางการเงินของบุคคล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (สมมติฐาน) และเมื่อเวลาผ่านไปเงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น มีฐานะการเงินดีขึ้น เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการลงทุนไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หรือสถานะทางสังคมเปลี่ยนไปแต่งงานมีครอบครัว และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น
เงื่อนไขต่างๆ ที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องมีการปรับแผนการเงินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป และทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แผนการเงินที่ไม่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของแผนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการได้ ทั้งนี้โดยปกติในแต่ละปีจะต้องมีการติดตามตรวจสอบและปรับแผนการเงินให้เหมาะสมกับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
10. การวางแผนการเงินทำเองก็ได้ไม่ต้องพึ่งมืออาชีพ
เนื่องจากการวางแผนการเงินเป็นเรื่องใหม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องที่ง่ายสามารถทำเองได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งมืออาชีพ ซึ่งในความเป็นจริงผู้มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและวางแผนการเงินโดยเปรียบเทียบจะคล้ายกับหมอที่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์คนไข้และหาทางในการรักษาให้ถูกต้องตรงกับโรคเพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยและกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
นักวางแผนการเงินก็เช่นกันมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานะ ปัญหา และเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าแต่ละรายซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน และให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาทางการเงินที่มี รวมถึงข้อเสนอแนะ และแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินภายใต้ข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งการให้คำแนะนำที่ผิดพลาดหรือการจัดทำแผนทางการเงินด้วยตัวเองโดยปราศจากความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงนอกจากจะทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินที่รุนแรงตามมา
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวของลูกค้าแต่เพียงคนเดี่ยวเท่านั้นแต่ยังส่ง ผลกระทบต่อเนื่องไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ลูกหลาน และผู้ที่อยู่ในภาระความรับผิดชอบของลูกค้าคนดังกล่าว ทำให้ประสบกับความยากลำบากทางการเงินตามไปด้วย ดังนั้น การทำแผนการเงินควรที่จะต้องอาศัยมืออาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของแผนการเงินบุคคลระดับหนึ่ง
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแผนการเงินมีความสำคัญต่อทุกคน และควรเริ่มลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งเร็วยิ่งดี โดยอาศัยมืออาชีพที่มีความรู้เนื่องจากแผนการเงินบุคคลที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของแผนการประกัน แผนภาษี แผนการลงทุน และแผนเพื่อวัยเกษียณ แต่ละแผนมีเนื้อหารายละเอียด ความซับซ้อน และยังมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมต่อระหว่างแผนการเงินค่อนข้างมาก นอกจากนี้นักวางแผนการเงินจะต้องมีจรรยาบรรณ และมีประสบการณ์ทางวิชาชีพที่มากพอ
ขอขอบคุณที่มา คอลัมน์ Capital Market Society โดย มนต์ชัย เปี่ยมพงศ์สุข และอลงกรณ์ สวัสดิภาพ นิตยสาร M&W ฉบับเดือนมกราคม 2551
No Comment