Editor's Rating

5

ตามที่ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกําหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป นั้น

ขณะนี้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกําหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จึงขอแจ้งให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการคำนวณภาษีให้ถูกต้องซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้มีเงินได้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

  1. สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  2. สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เหมารัอยละ 50 ไม่เกิน 100,000 บาท
  3. สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจําเป็นและสมควร
  4. สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังต่อไปนี้
    (1) การเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่างๆ ร้อยละ 60
    (2) การถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรปู ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (3) การทํากิจการคานเรือ อู่เรือ หรือซ่อมเรือที่มิใช่ซ่อมเครื่องจักร เครื่องกล ร้อยละ 60
    (4) การทํารองเท้า และเครื่องหนังแท้หรือหนังเทียม รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (5) การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ้าหรือสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (6) การทํา ตกแต่ง หรือซ่อมแซมเครื่องเรือน รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (7) การทํากิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มจําหน่าย ร้อยละ 60
    (8) การดัด ตัด แต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย ร้อยละ 60
    (9) การทําสบู่ แชมพู หรือเครื่องสําอาง ร้อยละ 60
    (10) การทําวรรณกรรม ร้อยละ 60
    (11) การค้าเครื่องเงิน ทอง นาก เพชร พลอย หรืออัญมณีอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (12) การทํากิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเฉพาะที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน รวมทั้งการรักษาพยาบาลและการจําหน่ายยา ร้อยละ 60
    (13) การโม่หรือย่อยหิน ร้อยละ 60
    (14) การทําป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น ร้อยละ 60
    (15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ ร้อยละ 60
    (16) การทําบล็อก และตรา การรับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
    (17) การทําเหมืองแร่ ร้อยละ 60
    (18) การทําเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 60
    (19) การทําเครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องซีเมนต์ หรือดินเผา ร้อยละ 60
    (20) การทําหรือจําหน่ายกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 60
    (21) การทําน้ําแข็ง ร้อยละ 60
    (22) การทํากาว แป้งเปียกหรือสิ่งที่มีลักษณะทํานองเดียวกันและการทําแป้งชนิดต่างๆ ที่มิใช่เครื่องสําอาง ร้อยละ 60
    (23) การทําลูกโป่ง เครื่องแก้ว เครื่องพลาสติก หรือเครื่องยางสําเร็จรูป ร้อยละ 60
    (24) การซักรีด หรือย้อมสี ร้อยละ 60
    (25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต ร้อยละ 60 
    (26) รางวัลที่เจ้าของม้าได้จากการส่งม้าเข้าแข่ง ร้อยละ 60
    (27) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝาก ร้อยละ 60
    (28) การรมยาง การทํายางแผ่น หรือยางอย่างอื่นที่มิใช่ยางสําเร็จรูป ร้อยละ 60
    (29) การฟอกหนัง ร้อยละ 60
    (30) การทําน้ําตาล หรือน้ําเหลืองของน้ําตาล ร้อยละ 60
    (31) การจับสัตว์น้ํา ร้อยละ 60
    (32) การทํากิจการโรงเลื่อย ร้อยละ 60
    (33) การกลั่นหรือหีบน้ํามัน ร้อยละ 60
    (34) การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ร้อยละ 60
    (35) การทํากิจการโรงสีข้าว ร้อยละ 60
    (36) การทําเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ ร้อยละ 60
    (37) การอบหรือบ่มใบยาสูบ ร้อยละ 60
    (38) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60
    (39) การฆ่าสัตว์จําหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60
    (40) การทํานาเกลือ ร้อยละ 60
    (41) การขายเรือกําปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ ร้อยละ 60
    (42) การขายที่ดินเงินผ่อนหรือการให้เช่าซื้อที่ดิน ร้อยละ 60
    (43) การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ
    (ก) สําหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60
    (ข) สําหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40
    การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท

2. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้น(มาตรา 5)

  1. ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท
  3. ค่าลดหย่อนสำหรับบุตร
    (1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็น คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร
    (2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
    อย่างไรก็ดี หากมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม (1) และบุตรบุญธรรม (2) ให้นำบุตรตาม (1) ทั้งหมดมาหักก่อน หากบุตรตาม (1) ที่มีชีวิตอยู่รวมจำนวนเกิน 3 คน จะนำบุตรตาม (2) มาหักไม่ได้แล้ว แต่ถ้าบุตรตาม (1) มีไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรตาม (2) มาหักได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกิน 3 คน
  4. ในกรณีที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
  5. กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท
  6. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

3. ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับเงินได้พึงประเมินประจําปีภาษี พ.ศ. 2560
ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

รายได้ต่อปี (บาท) อัตราภาษี (%)
1. 1 – 300,000 บาท 5
2. 300,001 – 500,000 บาท 10
3. 500,001 – 750,000 บาท 15
4. 750,001 – 1,000,000 บาท 20
5. 1,000,001 – 2,000,000 บาท 25
6. 2,000,001 – 5,000,000 บาท 30
7. ตั้งแต่ 5,000,001 บาท ขึ้นไป 35

*ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ยังคงสามารถ ใช้ต่อไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551

4. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้

  1. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
    (1) หากผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 120,000 บาท
    (2) หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 220,000 บาท
  2. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
    (1) หากผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 60,000 บาท
    (2) หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 120,000 บาท

5. การปรับปรุงดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91)

  1. เงินได้ (เงินเดือน, ค่าจ้าง และ/หรือรายได้อื่นๆ)
  2. หัก รายการยกเว้น (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครู, ผู้มีเงินได้อายุ 65 ปี ขึ้นไป)
  3. หัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (50% ของเงินได้หลังหักค่ายกเว้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
  4. หัก รายการลดหย่อน
    สำหรับผู้มีเงินได้
    ส่วนตัว 60,000 บาท
    เบี้ยประกันชีวิต ไม่เกิน 100,000 บาท
    เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท*
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท*
    กองทุนรวม LTF ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท
    กองทุนรวม RMF ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท*
    กองทุนสงเคราะห์ครู ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท*
    ดอกเบี้ยเงินกู้ยืน ไม่เกิน 100,000 บาท
    ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
    สำหรับครอบครัว
    คู่สมรสไม่มีเงินได้ 60,000 บาท
    บุตร (คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 3 คน)
    อุปการะบิดามารดา คนละ 30,000 บาท มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
    อุปการะบิดามารดาคู่ของสมรส มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
    อุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษี
    เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
    เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของคู่สมรส ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
  5. หัก เงินสนับสนุนการศึกษา ลดหย่อนได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
  6. หัก เงินบริจาค ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
  7. เงินได้คงเหลือ
  8. ภาษี (ภาษี 7 ขั้นอัตรา) โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  9. หัก ภาษี ณ ที่จ่าย
  10. ภาษีคงเหลือ ที่ต้องจ่ายหรือได้คืน

*ลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ เมื่อรวมกับประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วไม่เกิน 500,000 บาท

ที่มา:
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/012/23.PDF

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกําหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/012/33.PDF

กรมสรรพากร
http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/news/news11_2560.pdf