ถ้าใครต้องยื่นภาษี แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี? มาเตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษี ผู้ที่มีรายได้ควรเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนจ่ายภาษี ลองเช็คลิสต์ดูว่า มีรายจ่ายส่วนใดบ้าง และมีอะไรที่ลดหย่อนได้บ้าง ที่สามารถนำมาหักลบกับรายได้ เพื่อมาคำนวณเป็นรายได้สุทธิประจำปีที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช็ครายได้ของทั้งปีมีอะไรบ้าง?
รายได้ประจำปีที่ต้องเสียภาษีได้แก่ เงินสด ทรัพย์สินที่ตีราคาได้เป็นเงิน สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนให้ และเครดิตภาษีเงินปันผล กฎหมายจะเรียกชื่อเฉพาะว่า ”เงินได้พึงประเมิน” แบ่งได้เป็น 8 ประเภท สรุปคร่าวๆ ได้แก่

  • เงินได้ประเภทที่ 1 เงินเดือน โบนัส และประโยชน์อื่นที่ได้จากการจ้างงาน
  • เงินได้ประเภทที่ 2 ค่าจ้างทั่วไป เช่น ค่านายหน้า ค่าบรรยาย ค่าวิทยากร
  • เงินได้ประเภทที่ 3 ค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่า Goodwill
  • เงินได้ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย และเงินปันผล
  • เงินได้ประเภทที่ 5 ค่าเช่าทรัพย์สินทุกประเภท (อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์)
  • เงินได้ประเภทที่ 6 ค่าวิชาชีพอิสระ ได้แก่ แพทย์/พยาบาลประกอบโรคศิลปะ ทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมาย วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักประณีตศิลปกรรม
  • เงินได้ประเภทที่ 7 ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
  • เงินได้ประเภทที่ 8 รายได้อื่นๆที่ไม่เข้าพวกเงินได้ประเภทที่ 1-7

เช็ครายจ่ายทั้งปีมีอะไรบ้าง?
เราจะหักค่าใช้จ่ายได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่เราได้รับ ซึ่งสามารถสรุปคร่าว ๆ ได้แก่

  • เงินเดือนและค่าจ้างทั่วไป หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 40% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินทั้ง 2 ประเภทรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • เฉพาะลิขสิทธิ์ หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ค่าเช่าหักแบบเหมา 10-30% หรือหักตามจริง
  • ค่าวิชาชีพอิสระ หักแบบเหมา 30-60% หรือหักตามจริง
  • ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หักแบบเหมา 70% หรือหักตามจริง
  • เงินได้อื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวก หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

เช็คสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง?
ค่าลดหย่อนเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง หรืออาจช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ได้แก่

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ 30,000 บาท
  • ค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 15,000 บาท และการศึกษาบุตรคนละ 2,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดาคนละ 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการคนละ 60,000 บาท
  • ค่าชำระเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาไม่เกิน 15,000 บาท
  • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าซื้อกองทุนรวม LTF/RMFไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าซื้อกองทุนรวม RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินนำส่งกองทุนประกันสังคมไม่เกิน 9,000 บาท
  • ใบเสร็จรับเงินบริจาคไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 ไม่เกิน 15,000 บาท

เช็คต้องเสียภาษีอัตราไหน?
หลังจากเช็คลิสต์ว่ามีรายได้ รายจ่าย ลดหย่อนอะไรได้บ้าง เพื่อมาคำนวณเป็นรายได้สุทธิประจำปีที่จะต้องเสียภาษีแล้ว ก็มาตรวจสอบอัตราภาษีที่ต้องเสียตามแบบขั้นบันไดอัตราตั้งแต่ 0-35% โดยจะเพิ่มขึ้นตามเงินได้สุทธิของผู้เสียภาษี ซึ่งอัตราภาษีปัจจุบันเป็น ดังนี้

  • รายได้ 0-150,000 ได้รับยกเว้นอัตราภาษี
  • รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
  • รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
  • รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
  • รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
  • รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
  • รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
  • รายได้ 4,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

ถ้าไม่จ่ายภาษี มีความผิดหรือเปล่า?
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษี ซึ่งแม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีแต่ก็อาจจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่ดี โดยเป็นการแสดงรายได้ของเราที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาในปีภาษี และจะยื่นภาษีกันเพียงปีละครั้งเท่านั้น คือระหว่าง 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี เช่น มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91 หากมีรายได้จากหลายแหล่ง เช่น เงินเดือน ขายสินค้า ดอกเบี้ย ค่านายหน้า ค่าเช่า ต้องนำรายได้นั้นไปรวมกันคำนวณ โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.94 กลางปี และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ควรจะชำระให้ถูกต้องครบถ้วน มิฉะนั้นแล้วอาจจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่คิด เพราะหากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจพบ นอกจากจะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากรในอัตราสูงร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และอาจโดนเบี้ยปรับอีกด้วย

พร้อมจ่ายภาษี ยื่นเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร  www.rd.go.th อย่าลืมเก็บใบเสร็จ “ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว” และ “ค่าซื้อสินค้าและบริการ” (ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558) ไว้ให้ดีด้วย เพราะสรรพากรอาจขอเรียกดูใบเสร็จในภายหลัง หรือลองใช้ เครื่องมือคำนวณภาษีเบื้องต้น เพื่อเช็คลิสต์ก่อนจ่ายภาษีนะคะ

infographic checklist

 

[ บทความนี้เป็นบทความ Advertorial ]