สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สะท้อนตัวเลขการก่อหนี้ ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไตรมาส 4 ปี 2555 มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 21.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.91 ล้านล้านบาท

ภาคครัวเรือนต้องตระหนักให้มากหากจะกู้เงินควรกู้อย่างมีเป้าหมาย เพื่อการลงทุนและให้มีรายได้กลับคืนมา ในอีกมุมหนึ่งสำหรับกลุ่มที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณก็น่าห่วง เพราะไม่น้อยมีเงินไม่พอใช้

“จะมีเงินพอใช้หลังเกษียณหรือเปล่า?”…คำถามนี้ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องไกลตัวมากโดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือนน้องใหม่ หรือข้าราชการที่เพิ่งได้รับการบรรจุ ที่คิดแต่เพียงว่า…“เอาเดือนนี้ให้รอดก็บุญแล้ว”

โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บอกว่า ต้องยอมรับความจริงว่ามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นเพียงทางผ่านของเงินเดือนตัวเอง ทันทีที่เงินเดือนออก บัญชีจะถูกตัดไปที่สินเชื่อบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ สินค้าเงินผ่อน บัตรเครดิต ประกันชีวิต ค่าโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ อีกมากมาย

“เหลือเงินสดติดมือเท่าไร แทบไม่ต้องนับ เชื่อหรือไม่ว่า…แค่ต้นเดือนเงินที่เพิ่งได้รับก็หายวับไปกับตา จนหลายคนบอกว่าเงินเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะช็อตได้เมื่อถึงกลางเดือน

เมื่อเงินไม่พอใช้ ก็ต้องพึ่งบริการบัตรกดเงินสด ดอกเบี้ยสูงช่วยชีวิตไปตลอดทั้งเดือน เงินเดือนออกค่อยเคลียร์กัน เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป”

ลองจินตนาการว่าผ่านไปหลายปี อายุมากขึ้น เวลาทำงาน ทำเงินเหลือน้อยลง ในขณะที่เงินออมก็ยังไม่มี หนี้สินก็ยังอีกมาก ชีวิตหลังเกษียณของเราจะเป็นอย่างไร…จะมีเงินพอใช้หรือไม่ จะรู้ได้อย่างไร?

โสภาวดี บอกว่า หลักง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้เครื่องคำนวณก็คือการเปรียบเทียบจำนวนปีที่เหลือสำหรับการทำเงิน กับจำนวนปีต้องดำรงชีวิตเพื่อใช้เงิน เช่น วันนี้นาย A อายุ 40 ปี ไม่มีเงินออม ไม่มีหนี้สิน รับเงินทุกเดือน ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี (มีเวลาทำเงิน 20 ปี) และกำหนดวันสิ้นอายุขัยที่ 80 ปี (มีเวลาใช้เงิน 20 ปี)

สิ่งที่ต้องกำหนดคือ ต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าไร นั่นก็คือจำนวนเงินที่คุณต้องเก็บออมให้ได้ในแต่ละเดือน ขณะที่ยังทำงานอยู่นั่นเอง กรณีนี้ถือว่ายังโชคดีที่ระยะเวลาทำเงินกับใช้เงินเท่ากัน

หากเหลือเวลาทำเงินน้อยกว่า เวลาใช้เงินมากๆ เราต้องออกแรงเก็บเงินมากขนาดไหน และจะทำได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดรายจ่าย และหาทางเพิ่มรายได้

ต้องย้ำเสียงดังๆเลยว่า ควรทำขณะที่ยังมีแรง และยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดีกับตัวเอง…กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นสถาบันที่บริหารเงินออมกว่า 5.77 ล้านบาท และดูแลสมาชิกกว่า 1.2 ล้านคน มีคำแนะนำว่า

การสร้างความเพียงพอของเงินออมหลังเกษียณ ประกอบด้วย 3 ตัวแปรสำคัญ ฐานเงินออมต้องมากพอ ระยะเวลาการออมหรือลงทุนที่นานพอ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากเพียงพอ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นขอเปรียบเทียบการออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณของคน 2 คน

ตัวอย่างที่ 1 : นาย A และนาย B อายุเท่ากันออมเงินเดือนละ 1,000 บาท เหมือนกัน นาย A เริ่มฝากเงินตั้งแต่อายุ 25 และหยุดฝากเงินเมื่ออายุ 35 โดยทิ้งเงินไว้ในบัญชีอย่างนั้นจนอายุ 60 ปี

ส่วนนาย B เริ่มฝากเดือนละ 1,000 บาทตอนอายุ 30 และฝากอย่างต่อเนื่องจนอายุ 60 ถ้าทั้งคู่ได้รับดอกเบี้ย 10% ต่อปีเท่ากันเมื่ออายุ 60 ปี นาย A มีเงินในบัญชีทั้งสิ้น 2.18 ล้านบาท นาย B มีเงินในบัญชีทั้งสิ้น 2.07 ล้านบาท สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นาย A ใช้เวลาในการฝากเงินอย่างต่อเนื่องเพียง 10 ปี ในขณะที่นาย B ใช้เวลาถึง 30 ปี แต่ผลลัพธ์คือ นาย A ยังมีเงินมากกว่า B ถึง 110,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 : นาย A ฝากเงินต่อเนื่องเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 25 ปี จนถึงอายุ 60 ปี ส่วนนาย B ฝากเงินต่อเนื่องเดือนละ 15,000 บาท ตั้งแต่อายุ 50 ปี จนถึงอายุ 60 ปี ได้ดอกเบี้ยปีละ 10% เท่ากัน เมื่ออายุ 60 ปี ผลลัพธ์คือ นาย A ได้เงิน 3.42 ล้านบาท ส่วนนาย B ได้เงิน 3.02 ล้านบาท

จากตัวอย่างที่ 1 และ 2 นาย A มีเงินออมมากกว่านาย B เพราะ นาย A ฝากเงินเร็วกว่า และปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้ผลดี แม้จำนวนเงินฝากจะน้อย แต่ถ้าฝากอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังออกมาดีเช่นกัน นั่นเพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่ใช้เวลาเป็นตัวช่วยนั่นเอง

โสภาวดี ย้ำว่า ทั้งสองตัวอย่างนี้บอกเราว่า “ยิ่งคิดช้า ยิ่งทำช้า ชีวิตหลังเกษียณยิ่งเหนื่อย ยิ่งคิดเร็ว ยิ่งทำเร็ว ชีวิตหลังเกษียณยิ่งแข็งแกร่ง” หากจะขอ 4 คำจำง่ายๆ ก็คือ “ออมก่อน รวยกว่า” แก่ตัวไปอยากเลี้ยงหลาน หรือให้หลานเลี้ยง

ความภูมิใจของวัยเกษียณคือการเป็นที่พักพิง หรือพึ่งพิงของลูกหลานได้ แต่ในทางกลับกันหากเราไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องของเงินออมหลังเกษียณ เหตุการณ์อาจกลับตาลปัตรกลายเป็นภาระของลูกหลานได้

อาจเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับผู้เป็นข้าราชการที่โชคดี เพราะมีเงินบำนาญจากรัฐจ่ายให้ทุกเดือน และโชคดีซ้ำสอง หากเป็นสมาชิก กบข.ก็จะได้รับเงินก้อนที่สะสมไว้อีกด้วย ถือว่าเป็นแต้มต่อที่เป็นกำไร

ส่วนใครที่ไม่ได้มีโชคข้างต้นอย่าเพิ่งท้อ เพราะลงมือสร้างโชคให้กับตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากสำรวจตัวเองว่ามีความมั่งคั่งสุทธิเท่าไหร่ ด้วยการรวบรวมจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่…ของทุกสิ่งอย่างว่าด้วยสินทรัพย์ ทั้งที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนในกองทุนรวม หุ้น พันธบัตร บ้าน ที่ดิน ตลอดจนของสะสมมีค่าทั้งหลาย รวมจำนวนให้หมดโดยยึดมูลค่าของสินทรัพย์ตามราคาตลาดปัจจุบัน

ขณะเดียวกันก็รวบรวมหนี้สินที่มีอยู่ทั้งภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถบัตรเครดิต จากนั้นนำยอดสินทรัพย์หักลบด้วยหนี้สิน ก็จะได้คำตอบของความมั่งคั่งสุทธิหรือเงินสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินใช้จ่าย

คำถามมีว่า…จะรู้ได้อย่างไรว่าคำตอบนี้คือความมั่งคั่งที่ควรมีในวันนี้

ลองถอดสมการนี้กันดูก่อน นำอายุ…คูณรายได้ต่อปี หารด้วย 10 เช่น นาย A อายุ 40 ปี รายได้ต่อปี 360,000 บาท ผลคือ 40 x 360,000/10 = 1,440,000 บาท เป็นตัวเลขความมั่งคั่งของนาย A ที่ควรมีตอนอายุ 40 ปี

เมื่อรู้ตัวเลขในข้อแรกแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ “ปลดหนี้”…หากคุณเป็นหนี้ควรต้องรีบทำชีวิตให้ปลอดหนี้จะดีที่สุด และห้ามก่อหนี้เพิ่ม

แล้วก็ถึงข้อสำคัญ…“ทำเงิน”

เมื่อหนี้หมดนั่นแหละจะเป็นเวลาเริ่มต้นของการทำเงินอย่างแท้จริง ตามหลักง่ายๆ ที่กล่าวไปแล้ว นั่นก็คือ ระยะเวลาทำเงินควรมากกว่าระยะเวลาใช้เงิน และเงินที่เก็บออมในแต่ละเดือน ควรจะไม่น้อยกว่าเงินที่คาดว่าจะใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ

“เพื่อไม่ให้ชีวิตยามแก่มีปัญหา…เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ จะต้องเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวตั้งแต่เนิ่นๆ คิดไว้เสมอว่ายิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งรวยเร็ว ยิ่งออมมาก ออมนาน ความมั่งคั่งก็จะทวีค่าอย่างชัดเจน”

โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวทิ้งท้าย.

Cr: http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/330065