ใครๆ ก็ฝันอยากนอนกอด “เงินล้าน” กันทั้งนั้น

ความฝันนี้ในอดีตคงมีเพียง “เถ้าแก่” หรือผู้ที่ความรวยติดสายสะดือมาด้วยเท่านั้น ที่มีโอกาสเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ แต่ปัจจุบัน “มนุษย์เงินเดือน” อย่างเราๆ ท่านๆ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าไปเป็นเศรษฐีเงินล้านได้เช่นเดียวกัน

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของใครก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากการมี “ความฝัน” เสียก่อน และใครที่กำลังฝันอยากจะมีเงินล้าน รู้ไว้เถอะว่า การเป็น “เศรษฐีเงินล้าน” จะยากหรือง่ายก็ขึ้นกับตัวคุณเอง

ถ้าเป้าหมายชีวิตของคุณ คืออยากเป็นเจ้าของ “เงินล้าน” รู้ไว้เถอะว่าไม่ยากเย็นอะไร แต่ก่อนอื่น เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผลนั้น ปัจจัยสำคัญที่คุณจะต้องคำนึงถึงและนำมาคิด คือเรื่องของ “การสะสมเงิน” และ “อัตราผลตอบแทน” ที่จะได้รับจากการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น จะทำให้คุณรู้ว่าต้องสะสมเงินเท่าไรในแต่ละเดือน หรือในแต่ละปีจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

จากตารางที่ 1 เป็นตารางที่จะช่วยบอกคุณคร่าวๆ ว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายเงิน 1 ล้านบาท นั้น คุณจะต้องลงทุนเดือนละเท่าไร ที่ระดับ “อัตราผลตอบแทน” และ “ระยะเวลาการลงทุน” ที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่าง ถ้าคุณมีระยะเวลาในการลงทุน 35 ปี หากคุณลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี คุณจะลงทุนเพียงเดือนละ 464 บาทเท่านั้น เมื่อครบ 35 ปี คุณก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท แต่ถ้าคุณอยากจะมีเงิน 1 ล้านบาท แต่หาก 1 ล้านบาทน้อยเกินไป จะเพิ่มเป็น 3 ล้านบาท คุณก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1,392 บาท (=464×3) เท่านั้นเอง

หรือถ้าคุณอยากจะมีเงิน 1 ล้านบาท ในระยะเวลาที่สั้นกว่านั้น เช่น 10 ปี ด้วยอัตราผลตอบแทนประมาณ 8% ต่อปี คุณจะต้องลงทุนเดือนละ 5,516 บาท เป็นต้น

@ วิธีการบรรลุเป้าหมายเงิน 1 ล้านบาท ทั้งนี้มีอยู่ “2 วิธี” ด้วยกันที่คุณจะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวมกับเงินต้นให้งอกเงยเป็นจำนวนเงินที่ต้องการได้ สมมติคุณต้องการมีเงิน 1 ล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า

1. Lum Sum Investment เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินก้อนขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของ “ดอกเบี้ยทบต้น” จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้น หากคุณสามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 5.0% ต่อปี คุณจะใส่เงินลงทุนเบื้องต้นไปเพียง 613,783.5 บาท โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยทบต้น 5.0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี คุณก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท ตามที่คุณต้องการ

2.Making a Series of Investment Over Time แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนรายย่อย เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีเงินถุงเงินถังแล้ว วิธีที่สองนี้น่าจะเหมาะสมกับคุณมากกว่า เพราะเป็นการกำหนดแผนการสะสมเงินเป็นงวดๆ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการ “ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ” ทุกงวดตามระยะเวลาที่คุณกำหนดไว้ โดยจะเป็น “รายปี” หรือ “รายเดือน” ก็ได้ จนกว่าจะครบกำหนดตามเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางเอาไว้ โดยอาศัยหลักการทำงานของดอกเบี้ยทบต้นเช่นเดียวกัน ด้วยวิธีนี้หากคุณสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยทบต้น 5% คุณจะออมเงินเพียงปีละ 79,503.9 บาท เข้าไปทุกปี (เฉลี่ยแล้วเดือนละ 6,625.33 บาท) เป็นจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกปี เมื่อครบ 10 ปี คุณก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท ตามที่คุณต้องการ

“หากผลตอบแทนจากการลงทุนสูง จำนวนเงินต้นที่จะนำไปลงทุนก็จะน้อยลง วิธีที่ดีที่สุดในการคาดการณ์ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาด โดยดูจากผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาในระยะเวลา 5-10 ปี และดูค่าเฉลี่ยประกอบ”

@ผลตอบแทนที่แตกต่างกันของหุ้น-ตราสารหนี้-เงินฝาก หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะมองหาผลตอบแทนที่ดีๆ จากการลงทุนได้จากที่ไหน เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ บอกว่า จากการศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนไทยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 1999-2005) พบว่า เงินฝากธนาคาร (เงินฝากประจำ 1 ปี) ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกเสมอ ไม่เคยติดลบเลย ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.96%

ในขณะที่ตลาดพันธบัตร (พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี) นั้น มีทั้งปีที่ได้ผลตอบแทนมาก และปีที่ผลตอบแทนติดลบ แต่โดยเฉลี่ยแล้วให้ผลตอบแทน 5.82% ส่วนหุ้นนั้นก็ผันผวนเสมอมาอย่างที่เคยเป็นมาตลอด 30 ปี เพราะว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีความผันผวน มีความเสี่ยง แต่ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา หุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 21.24% แสดงว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สูงกว่าเงินฝากธนาคารถึง 2 เท่า และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสูงกว่าตราสารหนี้ถึง 3 เท่า

“แต่วันนี้คนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงปล่อยเงินของตัวเองทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเพียง 0.75-1% ต่อปี เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราได้ทำรายได้หายไป หากเรานำเงินไปลงทุนในช่องทางการลงทุนอื่นๆ นั่นหมายความว่าถ้าคุณมีเงิน 1 ล้านบาท ฝากไว้ที่ธนาคารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คุณได้ทิ้งเงินไปแล้ว 1 ล้านบาท หากนำไปลงทุนในตราสารหนี้ ถ้าถามว่าใครที่ต้องการเรื่องพวกนี้ ก็คือคนที่ยังไม่ได้รวย ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยเครื่องมือที่มีอยู่พวกนี้ ที่นี้สิ่งที่เราต้องการช่วยกันเผยแพร่ก็คือ ทำยังไงเราจะจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้”

@เครื่องมือการลงทุนครบครัน…แต่มีคนใช้เพียงเล็กน้อย ดร.สมจินต์ ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องมือการลงทุนครบครัน ไม่ว่าจะเป็น “หุ้น” “ตราสารหนี้” หรือ “เงินฝาก” ซึ่งถือเป็น 3 เครื่องมือหลักที่คนทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงได้โดยง่าย นอกจากนี้ เรายังโชคดีที่มี “กองทุนรวม” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับนักลงทุนรายย่อย มาเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำในจำนวนที่ไม่มากแล้ว ยังเหมาะกับผู้ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญในด้านการลงทุน หรืออาจจะไม่มีเวลาในการบริหารพอร์ตการลงทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถจะสร้างความมั่งคั่งได้จริงๆ จากเครื่องมือที่มีอยู่เหล่านี้ ในขณะที่มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทุน กลับปล่อยให้เงินส่วนใหญ่ทิ้งไว้ในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย 0.75-1.00% เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายผลตอบแทนที่เราทอดทิ้งกันไป

“ถ้าเรามองย้อนหลังไปที่คนข้างๆ เราก็ดี คุณพ่อคุณแม่เราก็ดี แล้วเปรียบเทียบกับเพื่อนฝูงของคุณพ่อคุณแม่ เราจะพบว่าคนเหล่านั้นหลายๆ คนมีความสามารถพอๆ กัน มีการทำงาน มีความขยันหมั่นเพียรพอๆ กัน มีความประหยัดและอดทนพอๆ กัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเหล่านั้นมีความมั่งคั่งไม่เหมือนกัน บางคนรวยมากๆ บางคนก็ยังเป็นชนชั้นกลางอยู่ ทั้งนี้ความแตกต่างนั้นเกิดจากการจัดการลงทุนที่แตกต่างกันนั่นเอง”

@จัดทัพลงทุน เรื่องของการลงทุน จะมีทั้ง “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง” ควบคู่กันไปเสมอ แม้จะรู้ว่าการลงทุนในหุ้นระยะยาวจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีกว่า แต่หลายคนก็กลัวและไม่กล้าลงทุนในหุ้น ครั้งจะฝากเงินกินดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่อไป ก็คงยากที่จะบรรลุเป้าหมาย และพาตัวเองห่างไกลจากเป้าหมายออกไปเรื่อยๆ

เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ ดร.สมจินต์แนะนำว่า นักลงทุนควรจะมีการ “จัดทัพลงทุน” ให้มีความสมดุล เช่นเดียวกันกับทัพฟุตบอลที่เข้มแข็งก็ต้องมีกองหน้าที่ดี สามารถที่จะรุกทำประตูได้ มีกองหลังที่เข้มแข็ง สามารถป้องกันประตูได้ มีกองกลางที่ยืดหยุ่นพร้อมที่จะขึ้นไปช่วยรุก พร้อมที่จะลงมาช่วยรับ ทัพฟุตบอลที่เข้มแข็งก็ยังต้องมีคนที่มีความชำนาญในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะหนุนเสริมกันได้เหมาะเจาะ ทัพของการลงทุนก็เช่นกัน

ถ้าหากว่าเราเอาเงินของเราจัดแบ่งเป็นกองทัพอยู่ในหุ้นบางส่วน อยู่ในพันธบัตรบางส่วน อยู่ในเงินสดบางส่วนแล้ว เราจะสามารถทำให้ได้กองทัพที่มีดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน

-พอร์ตระมัดระวัง (หุ้น 30%,ตราสารหนี้ 40%,เงินฝาก 30%) ซึ่งจากผลตอบแทนของตลาดทุนไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้น จะพบว่า พอร์ตระมัดระวังให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.59%

-พอร์ตปานกลาง (หุ้น 50%,ตราสารหนี้ 30%,เงินฝาก 20%) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.96%

-พอร์ตเชิงรุก (หุ้น 70%,ตราสารหนี้ 20%,เงินฝาก 10%) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 16.33%

“ดังนั้น การจัดทัพลงทุนให้สมดุลนั้น จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนสามารถรุก รับ หนุนเสริมกันได้อย่างเหมาะสม โดยดุลยภาพของพอร์ตการลงทุนจะทำให้เราได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมขึ้นกับพวกเราในแต่ละคน แล้วผลตอบแทนที่ดี และการมีระดับของความเสี่ยงที่เหมาะสมนั้น ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้นักลงทุนสามารถที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องได้”

@เลือกระดับความเสี่ยงให้เหมาะกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ดร.สมจินต์ย้ำว่า ศัตรูที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนคือ “ตัวเราเอง” คือความโลภของตัวเราเอง จะเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด แล้วถ้าหากว่าเราตัดสินใจลงทุนโดยมุ่งมองแต่ว่าเรา “จะได้” เท่าไรนั้น เราจะพลาดได้ ดังนั้นนักลงทุนควรจะดูก็คือการมองว่าเรา “จะเสีย” เท่าไรด้วย

สำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไป อยากจะให้เริ่มจากพอร์ตปานกลางก่อน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเราจะลงทุนแบบปานกลาง ลองมองดูสักนิดหนึ่งว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบปี 2000 แล้วพอร์ตการลงทุนของเรามีมูลค่าลดลงสัก 16% เรายังคิดว่าเรายังสามารถที่จะมีสติ สามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างดีหรือไม่ ถ้าหากเรายังสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างดีว่าโดยพื้นฐานแล้วเราควรจะลงทุนต่อ หรือเราควรจะขยายการลงทุนออกไป ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ลงทุนได้

“แต่ถ้าเราถามตัวเองว่าต้นปีเรามี 100 บาท แล้วปลายปีเหลือสัก 84 บาท เราจะรู้สึกไม่สบายใจเลย เราจะตัดสินใจดีๆ ไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณควรจะลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอลง ซึ่งอาจจะหมายถึงการลดการลงทุนในหุ้นไปเหลือสัก 30% ในหุ้นอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นในปีที่เลวร้ายที่สุดก็จะลบ 6% แน่นอน เราก็ต้องยอมรับว่าโอกาสของผลตอบแทนมากๆ มันก็จะลดลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคิดว่าการลงทุนเราก็ต้องสบายใจด้วย ลงทุนแล้วเราก็ต้องนอนให้หลับ อันนั้น ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญของการลงทุน แล้วการมีสติต่อเนื่องก็จะเป็นองค์ประกอบสำคัญ”

@เริ่มต้นลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หลังจากที่คุณเลือกจัดทัพลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว จากสถิติในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา คุณก็พอจะประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนได้ในระดับหนึ่งแล้ว ที่สำคัญก็คือการลงมือทำ โดยดร.สมจินต์บอกว่า ผู้ลงทุนอาจจะเริ่มต้นจากการแบ่งเงินจากเงินเดือน 10% มาลงทุนทุกเดือน ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่ทุกคนสามารถจะทำได้ไม่ยากนัก

โดยกระจายเม็ดเงินลงทุน 10% นั้น ไปในการลงทุนต่างๆ ตามสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนที่ได้เลือกเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ แล้วในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 25% จากเงินเดือน ซึ่งหากทำตามวิธีการนี้ เชื่อว่าทุกคนจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงิน 1 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน แม้ว่าบางครั้งอาจจะช้าไปบ้างหรือเร็วไปบ้างจากที่ควรจะเป็น อันนั้นก็เนื่องมาจากสภาวะของตลาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

“สำหรับใครที่มีเวลาก็สามารถที่จะทำด้วยตัวเองได้ แต่ใครที่ไม่มีเวลาที่จะทำด้วยตัวเอง ทาง บลจ.วรรณก็มีโปรแกรม Automatic Millionair Program : AMP ที่จะให้บริการตัดเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อจะนำเงินของคุณไปลงทุนในกองทุนหุ้น,กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารตลาดเงินของบลจ.วรรณตามสัดส่วนที่คุณได้เลือกเอาไว้ให้โดยอัตโนมัติ โดย AMP นี้ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างความรู้กับความมั่งคั่ง โดยมีประโยชน์ 2 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ การลงทุนโดยใช้หลักการของ Dollar Cost Average ซึ่งจะทำให้คุณมีต้นทุนทางการลงทุนที่ถูกกว่า และการลงทุนอย่างต่อเนื่องนั้น ก็จะทำให้เรามีเงินต้นเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งสำคัญมาก”

ใครที่คิดว่าเงิน 1 ล้านบาท เป็นเป้าหมายที่ไกลเกินฝัน อาจจะต้องกลับมานั่งคิดทบทวนกันอีกสักครั้ง เพราะการจะเป็นเศรษฐีเงินล้านไม่ยากอย่างที่คิด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549
โดยสรวิศ อิ่มบำรุง