เคยมั้ย… กำลังคุยกับเพื่อนเก่าเรื่องหน้าที่การงานอยู่ดีๆ ก็มีอันต้องวงแตกแยกย้ายกันไปทำธุระกะทันหัน เพียงเพราะหนึ่งในนั้นเอ่ยขึ้นมาว่า “เรามีอาชีพใหม่ ขายประกันไงเพื่อนๆ น่าจะซื้อไว้สักฉบับนะ” และเคยมั้ย… แม้จะแยกย้ายกันไปแล้ว แต่ไอ้เพื่อนยอดนักขายก็ยังตามมาตื้อ ตื้อ ตื้อ จนในที่สุด… คุณต้องยอมซื้อประกันเพื่อตัดรำคาญ

ไม่ว่าคุณจะซื้อประกันเพราะจำใจหรือเหตุผลใดก็ตาม... อย่าได้คิดว่านั่นคือเศษกระดาษ ธรรมดา ไม่มีคุณค่าหรือประโยชน์ใดๆ เพราะอันที่จริงแล้วการประกันก็เปรียบเสมือน “ร่ม” ยามใดฟ้าใสไร้พายุฝน ร่มจะเป็นภาระ เกะกะ ไม่คล่องตัว แต่ยามใดที่ฝนตกหรือแดดแรงยามนั้นเราจะรู้สึกดีที่มีร่มให้พึ่งพา

ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน… ในวันที่ยังไม่มีเรื่องร้ายๆ แผ้วพานเข้ามา หลายคนอาจคิดว่า การทำประกันช่างเป็น “ภาระ” (ทางการเงิน) ซะเหลือเกิน แต่หากเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ขึ้นโรงขึ้นศาล ไฟไหม้บ้าน รถชนจนพิการหรือร้ายแรงจนเสียชีวิตเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ… จะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของประกันขึ้นมาทันที เพราะงานนี้มีคนตามมาจ่ายค่าเสียหาย ให้ถึงที่ บางทีคุณอาจไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเองสักบาทเลยด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่า… หากคุณไม่หัวเก่าจนเกินไปและไม่คิดว่าการทำประกันจะเป็นการ “แช่ง” ตัวเองให้เจอแต่เรื่องร้ายๆ ก็มา “วางแผนประกัน” กันเถอะ!!! ก่อนทำประกัน อันดับแรกต้องดูว่าคุณมีภาระอะไรบ้าง ทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน เช่น ต้องสะสมเงินเป็น ค่าเล่าเรียนของลูก ต้องออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ ก็ควรทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงและภาระทางการเงินทั้งหมด พร้อมสำรวจสวัสดิการที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เป็นต้นว่า… คุณมีสวัสดิการที่ดีจากที่ทำงาน หรือประกันสังคมคุ้มครองในบางส่วนอยู่แล้ว ก็ใช้วิธี “ซื้อเพิ่ม” ในส่วนที่คุณขาดไปและต้องการ จะได้ไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันเกินความจำเป็น

วิธีทำประกันแบบไม่ให้รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว คือ ให้ทำแบบพอดีๆ มีกำลังส่งไปตลอดรอดฝั่ง เพราะการทำประกัน อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร ฉะนั้น ถ้าคุณคิดว่าเป็นภาระที่ต้องจ่ายในระยะยาว ก็ลองคำนวณรายรับรายจ่ายของตัวเองดูว่าในแต่ละเดือนหรือปีนั้น คุณมีกำลังส่งค่าเบี้ยประกันได้เท่าไหร่ที่จะไม่ “เกินตัว” อย่างน้อยๆ ลองเจียดเงินสัก 10% ของรายได้มาทำประกันก็ถือว่าไม่มากเกินไป เมื่อมีรายได้มากขึ้นค่อยทยอยซื้อประกันเพิ่มขึ้น

นอกจากปัญหาจ่ายค่าประกันเกินกำลังแล้ว อีกปัญหาหนึ่งซึ่งพบอยู่เป็นประจำ คือ ซื้อประกันไม่ตรงกับความต้องการ และวัตถุประสงค์ของตนเอง ยิ่งทุกวันนี้มีประกันมากมายหลายชนิด แถมแต่ละชนิดยังมีลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่มีใคร บอกได้ว่าประกันแบบไหนที่จะเหมาะกับเรามากที่สุด… นอกจากตัวเราเอง

บางคนไม่เน้นว่าจะได้ผลตอบแทนคืนเท่าไหร่ แต่ขอให้ตอนเจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ส่วนบางคนเน้น ว่าผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวสำหรับผู้ทำประกัน

แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบไหนก็ตาม… ขอให้ศึกษากรมธรรม์อย่างรอบคอบ จะได้รู้ว่าเงื่อนไขของประกันที่คุณเลือกนั้น ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง และคุณจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

CR : TSI-thailand