6 วิธี เตรียมเงินเพื่อเกษียณอย่างสุขใจ

  1. เก็บออมทุกเดือนอย่าได้ขาด แบ่งเก็บทุกเดือนอย่างน้อย 10% ของรายได้ ข้อสำคัญคือต้องเก็บก่อนใช้ คือได้เงินเดือน แบ่งเก็บก่อนใช้จ่าย
  2. ออมเพื่อเน้นความมั่นคง ส่วนหนึ่งของเงินออมควรเก็บแบบความเสี่ยงต่ำ โดยการฝากธนาคารเพื่อการมีสภาพคล่องและซื้อประกันชีวิต เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ครอบครัว แต่ประกันอีกประเภทที่ไม่ควรมองข้ามคือ ประกันสุขภาพ เพราะช่วยให้เงินออมไม่สูญหาย หากคุณต้องใช้เงินในการรักษาพยาบาล เพราะคุณไม่ต้องถอนเงินเก็บออกมาใช้ก่อนกำหนด
  3. ลงทุนแถมลดหย่อนภาษี ลงทุนใน LTF กองทุนหุ้นระยะยาว หรือ RMF กองทุนเพื่อการเกษียณ หรือประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ เพื่อช่วยลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปีแล้วยังลดความกังวลกับการผันผวนของเศรษฐกิจ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว
  4. เสี่ยงบ้างเพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น แบ่งเงินออมประมาณ 30% มาลงทุนในกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินออม เรียกว่า เงินต่อเงิน แต่ต้องระวังในการเลือกลงทุน ควรเลือกสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้
  5. ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือทองเก็บบ้าง จังหวะที่ราคาทองลง แบ่งเงินออมมาซื้อเก็บไว้บ้างถือเป็นการออมเงินวิธีหนึ่ง แต่ไม่ต้องรีบนำออกมาขาย เก็บไว้เป็นทรัพย์สินเผื่อฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนหลังเกษียณ ส่วนที่ดินอาจต้องปรึกษาคนที่มีความเชี่ยวชาญ และค่อยๆ ผ่อนซื้อไปจะได้มีทรัพย์สินเก็บไว้หลังเกษียณ
  6. ทำประกันชีวิตเพื่อการเกษียณ การซื้อประกันชีวิตเพื่อการเกษียณถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่เป็นการเตรียมตัวเกษียณที่ทุกคนควรมี เพราะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าคุณจะมีเงินใช้แม้ในวัยที่คุณไม่สามารถทำงานหาเงินได้ เสมือนว่าคุณยังมีรายได้อยู่

happy

6 เคล็ดลับ ใช้เงินอย่างมั่นคงในวัยเกษียณ

  1. ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด เมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น อาจหัดทำอาหารเอง ได้ทั้งสุขภาพและความสะอาดแถมประหยัดเงิน และเมื่อมีเวลาดูแลบ้านมากขึ้นเราก็ไม่ต้องจ้างแม่บ้านค่อยๆ ทำเอง เท่ากับออกกำลังกายไปในตัว โดยไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนส
  2. หาเงินเพิ่ม บางท่านชอบทำงานอดิเรก เช่น วาดรูปเพนท์จาน อาจจะนำออกมาขายได้ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับตัวเอง หรือบางท่านอาจจะไปทำงานพิเศษโดยเอาประสบการณ์ที่ผ่านมามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น สอนหนังสือ
  3. อยู่อย่างพอเพียง อย่าฟุ่มเฟือย ใช้เงินอย่างพอตัวอะไรไม่จำเป็นต้องซื้อก็อย่าซื้อ เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวก็ไม่ต้องซื้อเยอะ เพราะไม่ต้องทำงานแล้ว แต่ไม่ต้องถึงกับประหยัดมากเกินไป เอาแค่พอใช้จ่ายอย่างสบายๆ ก็พอ
  4. กันเงินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล กันเงินส่วนหนึ่งไว้ในธนาคารห้ามถอน เผื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลยามฉุกเฉินเพราะเมื่ออายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้แล้ว
  5. อย่าใช้เงินก้อนใหญ่ ใช้เงินที่ได้จากผลตอบแทนการลงทุน อย่าดึงเงินก้อนใหญ่มาใช้ เพื่อให้เงินก้อนไปลงทุนต่อได้อีก
  6. ลงทุนแบบปลอดภัย ลงทุนในพันธบัตรหรือซื้อกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร อย่าไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนที่ความเสี่ยงสูง เพราะอาจสูญเงินก้อนไปได้ และเราไม่มีเวลาจะหาเงินได้แบบเดิมแล้ว

ที่มา : Our Moments ปีที่5 ฉบับที่9