โดย กาญจนา หงษ์ทอง

ใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล-วางรากฐานการออม

“แม่” ไม่เพียงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกน้อย แต่ยังเป็น “ต้นฉบับ” ที่ลูกมักจดจำพฤติกรรมและนิสัยบางอย่าง ติดตัวไปจนโต

นั่นจึงทำให้คำกล่าวที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ถูกหยิบขึ้นมาใช้บ่อยๆ

ถ้าแม่มีพฤติกรรมทางการเงินดีๆ ซะอย่าง และบ่มเพาะนิสัยที่ดีทางการเงินให้ลูก รับรองว่าลูกของคุณก็จะถอดแบบเรื่องดีๆ ที่คุณปลูกสร้างไว้

แต่ถ้าแม่ยังมีอาการเสพติดแบรนด์เนม ก็อย่าหวังว่าลูกวัยรุ่นของคุณจะรู้จักใช้เงิน ประหยัด หัดออม

ในวาระของวันแม่ที่เวียนมาถึง Fundamentals ฉบับนี้ ได้รวบรวมความเห็นของคุณแม่นักการเงินหลายๆ ท่านมานำเสนอแง่มุม และนิสัยทางการเงินดีๆ ที่แม่ควรเป็นต้นแบบให้ลูก

*************************

เมื่อคิดจะวางรากฐานที่ดีให้กับลูกหลานแล้ว ต้องอย่าลืมมองตัวเองว่า เราเป็นต้นแบบที่ดีให้พวกเขาหรือเปล่า ถ้าตัวคุณเป็นตัวอย่างที่ดี ลูกๆ ของคุณ ก็จะเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน โดยมีคุณเป็น

แบบอย่างนั่นเอง ดังนั้น จงเป็นตัวอย่างที่ดี และวางรากฐานการใช้เงินดีๆ ให้ลูกๆ เห็นเสมอ

ไม่ใช่ว่าอยากให้ลูกรู้จักประหยัดอดออม แต่ตัวคุณเองนั่นแหละ ที่เห็นอะไรเป็นควักกระเป๋าซื้อ

แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง จ่ายทุกอย่างเมื่ออยากได้ แล้วอย่างนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีได้อย่างไร

@วางรากฐานการออมเงิน&รู้จักแบ่งเป็น

“ดัยนา บุนนาค” อดีตนักการเงินผู้คร่ำหวอดในแวดวงกองทุนรวม ให้ข้อคิดว่า นิสัยแรกที่ได้พยายามปลูกฝังให้ลูกคือ การรู้จักแบ่งปัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การแบ่งขนม ของเล่น ทุกปีจะมีวันที่เลือกเสื้อผ้า และของเล่นไปบริจาค เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียน เธอจะให้เงินไปโรงเรียนพร้อมทั้งให้กระปุกแก่ลูก 2 ใบ เวลาลูกกลับมาบ้านก็จะชวนลูกหยอดเงินที่เหลือใส่กระปุก ใบหนึ่งสำหรับตัวเอง อีกใบสำหรับทำบุญ เมื่อกระปุกเริ่มเต็ม ก็จะนำเงินออกมานับให้ลูกภาคภูมิใจว่าเก็บได้เยอะ เป็นกำลังใจให้เก็บมากขึ้น

“ดิฉันมีลูกสาวที่น่ารักสองคน คนโตชื่อ ญารินดา บุนนาค สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ส่วนคนเล็กชื่อ ดณีญา บุนนาค กำลังศึกษาการบริหารธุรกิจโรงแรมที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

อย่างที่บอกว่าเมื่อถึงตอนที่ออมเงินได้แล้ว ก็จะถามลูกว่าจะนำไปซื้อของที่เคยอยากได้ หรือจะเก็บเงินไว้ ส่วนใหญ่ลูกจะหายอยากได้ของชิ้นนั้นไปแล้ว ส่วนอีกกระปุกก็จะเลือกกันว่าจะนำไปทำบุญอะไรดี ดิฉันจะสอนลูกให้พิจารณาเหตุผล และตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่เด็กๆ”

ครั้งแรกที่จะนำเงินไปฝากธนาคาร ก็ใช้เวลาอธิบายนานพอสมควรว่าเงินไม่ได้หายไป โดยธนาคารจะนำเงินไปให้ผู้อื่นที่ต้องการใช้เงินยืมไปใช้ ส่วนลูกก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน ทำให้มีเงินมากขึ้น โดยอธิบายให้ลูกเห็นประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้น ที่ทำให้เงินเพิ่มทวี

คุณแม่นักการเงินอีกรายหนึ่งที่มีวิธีสอนลูกในเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อย่างน่าฟัง คือ “วรวรรณ ธาราภูมิ” กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า นิสัยทางการเงินอย่างหนึ่งที่เธอหมั่นบ่มเพาะให้ลูกคือ เมื่อเราพึ่งพาตนเองได้แล้ว เราก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าด้วย

“บ้านเราทำทานมากกว่าทำบุญ ไม่ค่อยสร้างวัด สร้างพระ ฯลฯ แต่หนักไปทางจุนเจือคนด้อยโอกาส ลูกก็เห็นสิ่งที่ทำ เคยถามว่าทำไมไม่เอาเงินนี้ไปลงทุน เพื่ออนาคตจะได้มากขึ้นๆ แม่ก็บอกว่านี่ละการลงทุนอีกชนิดหนึ่ง แม่ลงทุนทางสังคมให้ลูกและคนอื่นๆ”

กล่าวคือ การสนับสนุนของแม่ ทำให้ชีวิตเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสและผู้ใหญ่ที่ไม่โชคดีอย่างเรา สามารถอยู่รอดได้ พออยู่รอดได้เขาก็ไม่ไปเป็นคนไม่ดีในสังคม เขาก็จะระลึกได้ว่าพวกเราที่โชคดีกว่าเขา ทำดีต่อเขา เขาก็จะไม่โกรธแค้นเกลียดชังพวกเรา สังคมก็จะดีขึ้น

“โชติกา สวนานนท์” กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย เป็นคุณแม่อีกคนหนึ่งที่วางรากฐานการออมให้ลูกตั้งแต่เล็ก เพราะเธอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญอย่างยิ่ง

“โดยปกติก็จะมีทั้งส่วนที่แม่ออมให้ และสอนให้เขาออมเอง ก็จะคอยบอกคอยสอนตลอดว่า การออมดี และมีประโยชน์อย่างไร ลูกก็จะซึมซับมาเรื่อยๆ สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องมีวินัยทางการเงินให้ลูกเห็นก่อน”

คุณแม่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่าง “ชาลอต โทณวณิก” บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็มักจะบอกและทำให้ลูกเห็นถึงวินัยทางการออมของแม่ และโดยมากก็จะทำให้ลูกเห็นว่า เงินทองไม่ใช่ของที่จะหามาได้ง่ายๆ บอกให้เขารู้แหล่งที่มาของรายได้ ลูกก็จะซึมซับความเหนื่อยยากของพ่อแม่ และรู้คุณค่าของเงิน

@สอนให้ลงทุน&หารายได้

นอกจากการสอนเรื่องการฝากเงินแล้ว ดัยนายังสอนลูกเรื่องการหารายได้ เช่น การเล่นขายของ หม้อข้าวหม้อแกงโดยได้เข้าไปในเวบไซต์ของอเมริกาซึ่งมีเกมให้เด็กเล่นขายน้ำมะนาว (Lemonade stand) ซึ่งสอนเด็กให้รู้จักตัดสินใจประเมิน และเลือกโอกาสทางธุรกิจ โดยแต่ละเมืองจะมีค่าเช่าแผงไม่เท่ากัน ราคามะนาว น้ำตาลไม่เท่ากัน ส่วนราคาขายก็ให้ตั้งเอง โดยหน้าร้อนหน้าหนาวจะขายได้มากน้อยต่างกัน หากขายแพงจะขายได้น้อยกว่าขายถูก แต่ได้กำไรมากกว่า หรืออาจขายไม่ได้เลย ที่สำคัญคือ เด็กได้หัดตัดสินใจ และศึกษาผลจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการขาย

เรื่องการลงทุนนั้น ดิฉันสอนให้ลูกลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ เมื่อลูกคนโตเริ่มทำงาน ก็แนะนำให้ซื้อกองทุน RMF และกองทุน LTF ทันที นอกจากนั้นให้แบ่งเงินไว้ออม และลงทุนก่อนเหลือเท่าไรค่อยใช้ และต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเงินไว้ทำบุญเสมอ

โชติกาบอกว่าเมื่อบอกสอนให้ลูกออมมาได้ระดับหนึ่งแล้ว และประกอบกับวัยที่โตขึ้น ก็จะคอยสอนเขาให้รู้จักกับเรื่องของการลงทุน ว่านอกจากการฝากเงินแล้วที่จริงในโลกของเรายังมีการลงทุนอีกหลายรูปแบบให้เราเลือกลงทุน ลูกก็จะรู้จักการลงทุน จัดพอร์ต และกระจายความเสี่ยง มีทักษะการลงทุนที่ดีติดตัวเขาไปตลอด

@ให้รู้จักความสุขที่ไม่ใช่แค่ “เงินทอง”

นอกจากนั้น ดัยนาจะสอนให้ลูกตระหนักเสมอว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่ใจ บางทีคนยากจนมีความสุขยิ่งกว่าคนร่ำรวยเสียอีก ดังนั้น เธอจะสอนให้ลูกรู้จักความสุขจากการให้และทำบุญให้มากๆ พอใจในสิ่งที่ตนมีเป็นความสุขนั้นอยู่ที่ใจ อย่าโลภมาก อย่ามองแต่คนที่มีมากกว่าเรา แต่ให้มองคนที่มีน้อยกว่า และคิดเสมอว่าเราจะมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

และที่สำคัญที่สุดคือ การสอนให้ลูกเป็นคนดีและซื่อสัตย์สุจริต เข้าใจความจำเป็นและความสำคัญของกฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ซึ่งทุกคนจะต้องมีวินัย เคารพและปฏิบัติตามกฎ ซึ่งพ่อแม่ต้องสอนโดยการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เธอและครอบครัวเชื่อในเรื่องบุญและบาป จะสอนให้ลูกปฏิบัติธรรมตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งช่วยให้ลูกมีจิตใจที่ดี มั่นคงเข้มแข็งมีเหตุผล ดูแลตนเองได้ดี ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด ซึ่งลูกทั้งสองคนก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

@ทำแผนการเงินให้ลูกเห็น

วรวรรณบอกอีกว่า มีหลายสิ่งหลายประเด็นที่พ่อแม่สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกเห็น เช่นโดยมากครอบครัวไทยๆ แม่มักเป็นผู้จัดการเงินในบ้าน ดังนั้นเธอจึงทำตัวอย่างให้ลูกเห็นด้วยการหยิบเอาของจริงในชีวิตจริงมาแสดงให้เห็นคือ แม่ทำแผนการเงินเป็นรายเดือนว่ารายได้ที่เราได้รับในแต่ละเดือนนั้น เราต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยทำแผนล่วงหน้าเป็นปีด้วย เพราะบางเดือนเราจะมีรายจ่ายเป็นครั้งคราวเช่น ค่าเล่าเรียนลูก ค่าประกันรถ ค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หรือค่ารักษาพยาบาลเช่น การตรวจร่างกายประจำปี/ครึ่งปี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของครอบครัวด้วย

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะมีรายการค่าใช้จ่ายรายการหนึ่งที่เป็นการออมทุกเดือนเอาไว้ก่อน ส่วนที่เหลือจากความจำเป็นและการออม คือ ส่วนที่เราจะเอาไปใช้ในสิ่งฟุ่มเฟือยบ้างได้ แผนพวกนี้ทำไปจนเราเกษียณแล้ว เราจึงเห็นตั้งแต่วันนี้เลยว่าเราจะมีสภาพอย่างไรในยามเกษียณ ลูกจะสามารถศึกษาได้ขนาดไหน ฯลฯ

ในส่วนที่เป็นการออม ก็จะเอาไปลงทุนในกองทุนรวมทุกเดือน ทั้งกองทุนในประเทศและต่างประเทศ เพราะเราทำงานแบบนี้หากไปซื้อหลักทรัพย์เองมันไม่สะดวกใจ และอาจเป็นที่ครหา ก็เลยตัดปัญหาไปเสียเลย และเราก็ให้ลูกดูโมเดลที่เราทำ ซึ่งเป็นการประมาณการว่าการลงทุนของเราในที่ต่างๆ นั้น พอเราอายุ 60 ปี มันจะเป็นอย่างไร ควรปรับสัดส่วนอย่างไรไหม ภายใต้ข้อมูลและอายุของเราที่เปลี่ยนไปทุกปี

“สิ่งที่ลูกจะเรียนรู้ได้จากแม่ในเรื่องนี้ คือ การรู้จักวางแผนการเงินตั้งแต่เล็กๆ การเรียนรู้และจัดทำแผนการเงินของตนเองจะให้ลูกมีสติ รู้ประมาณตน และหมดความกังวลใจในความไม่แน่นนอนทางการเงินไปได้ตลอดอายุขัย นี่เป็นเสรีภาพในชีวิตตนเองอย่างหนึ่งที่อยากให้ลูกได้รับ สมมติว่าต่อไปลูกไปเป็นลูกจ้างใคร เกิดงานที่ทำนั้นไม่ต้องตรงกับนิสัยลูก ลูกจะมีทางเลือกที่อิสระมากกว่าคนที่มีภาระทางการเงินและไม่รู้ภาวะทางการเงินตนเอง”

ชาลอตบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นนิสัยทางการเงินที่ดีที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็นคือ เมื่อทำบัญชีรับจ่ายก็ควรเปิดเผยให้ลูกรู้ และคอยสอนเขาให้บริหารเงิน เช่นได้เงินพิเศษเก็บออมยังไงและบันทึกลงในบัญชียังไงดี

“ปกติเวลาไปลงทุนอะไร จดเอาไว้ ก็จะบอกลูกตลอด ให้เขาเห็นว่าแม่เอาเงินไปซื้อที่ดินซื้อบ้านนะ เขาจะได้รู้ฐานะที่แท้จริง และนำแบบอย่างไปใช้”

@ใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล-ไม่ฟุ่มเฟือย

วรวรรณย้ำว่า คนที่เป็นแม่ไม่ควรจะมีนิสัยเห่อเหิมกับสิ่งที่เป็นแต่เปลือกนอก แต่ชื่นชมกับความงดงาม และความมีคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยไม่วัดคนจากสิ่งเหล่านั้นที่เขามี อุปนิสัยเหล่านี้จะถ่ายทอดไปที่ลูกด้วย

กล่าวคือ เราสามารถมีเท่าที่ลูกคนอื่นๆ เขามีได้โดยไม่เดือดร้อนอะไร แต่จะมีไปทำไมเกินกับที่เราจะใช้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละสภาพของเรา

“ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องเครื่องละ 2 หมื่น ระดับ 6 พันบาทก็เพียงพอเกินพอแล้ว และแม่ออกครึ่ง ลูกออกครึ่ง เดือนไหนลูกใช้จ่ายค่าโทรศัพท์มาก ลูกเหลือเงินน้อย แม่ก็ดับเบิลให้ลูกน้อย ลูกก็จะเห็นว่าในเดือนนี้ลูกมีเงินออมที่จะเอาไปลงทุนน้อยลง ผลของเงินในอนาคตของลูกก็ หดๆๆๆๆ ลูกก็จะฉุกใจคิด ปรับปรุงตนเองต่อไปในเดือนหน้า”

โชติกายอมรับว่าลูกของเธออยู่ในช่วงวัยรุ่น แน่นอนว่าด้วยวัย ทำให้ลูกอยากได้โน่นได้นี่ ซึ่งบางทีก็เป็นการใช้จ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผลเท่าไร พฤติกรรมการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยมักจะเกิดในช่วงนี้ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือจนงบบานปลาย หน้าที่ของแม่คือคอยกล่าวให้เห็นถึงความเหมาะสม และใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผล อธิบายให้ลูกเข้าใจ

“บางทีการกระทำของเรา เราต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจให้ได้ เช่นจะเห็นว่าแม่ซื้อและใช้ของแพงนะ แต่เห็นมั้ยว่าแม่ไม่ได้ซื้อบ่อยหรือพร่ำเพรื่อ แล้วของที่ซื้อมาแม้จะแพงแต่แม่ก็ใช้อย่างคุ้มค่า ก็จะบอกว่าเขา ว่าถ้าลูกรักที่จะซื้อของในแบบของลูกเช่นซื้อเสื้อยืดราคาไม่แพง แต่ซื้อบ่อย ก็จะไม่มีสิทธิมาซื้อของแพงนะ หรือบางทีซื้อนาฬิกามาเรือนหนึ่ง ก็จะบอกเขาว่าแพงแต่คุ้ม ใช้ทีเดียวนานไปเลย หรือบางอย่าง ก็จะคอยชี้ให้เห็นมูลค่าที่งอกเงยของสิ่งที่เราซื้อ สมมติเราซื้อเครื่องประดับอะไรซักชิ้น ก็จะไม่ซื้อที่มันไม่มีมูลค่าเพิ่ม เช่นซื้อต่างหูซักคู่แทนที่จะซื้อของถูก ถ้าเรายอมซื้อแพงหน่อยมันก็มีมูลค่าเพิ่มอยู่ในตัว”

หัวข้อนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาลอตเน้นเสมอว่า พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบเรื่องนิสัยการจับจ่ายที่มีเหตุมีผล บางครั้งที่แม่ต้องซื้อของแพงเข้าบ้าน หรือเป็นของใช้ส่วนตัว แม่ก็ต้องอธิบายถึงเหตุผลและความสมเหตุสมผลให้ลูกเข้าใจได้ เพราะของบางอย่างแพงที่ก็มีเหตุผลที่ควรซื้อ

เหล่านี้เป็นมุมมองของคุณแม่นักการเงิน ที่คุณแม่หลายคนน่าหยิบนิสัยทางการเงินดีๆ ไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบให้ลูกหลานได้

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550