“เงินตาย” และ “เงินเป็น” มีลักษณะแตกต่างกัน หากไม่พิจารณาดูให้ดี จะมองไม่เห็น และอาจทำให้เสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งไปกว่านั้น “เงินตาย” อาจขายคนเป็นได้ด้วย

เงิน นั้นเป็นได้ทั้งศัตรู และมิตร ถ้าเงินนั้นเป็นเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ทุกวินาทีไม่ว่าหลับ หรือตื่น อาศัยอยู่ใต้น้ำ หรือใต้ดินลึกไปกี่กิโลเมตรก็ตาม ดอกเบี้ยจะบานอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้ถือว่าเงินเป็นศัตรูในพื้นฐาน

หากเงินที่กู้มานั้นสามารถช่วยให้เงินงอกงามคุ้มกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เงินกู้ก้อนนั้นก็กลายสภาพจากศัตรูเป็นมิตร แต่ถ้าเงินกู้ถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ความเป็นศัตรูของเงินก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินนั้นเป็นเงินของเราที่ได้มาจากการทำงาน และสามารถอดออมไว้ได้ส่วนหนึ่ง เงินนั้นก็เป็นมิตรกับเรา

หาก เอาไปฝากในธนาคาร หรือซื้อหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง เงินก็จะงอกงามยิ่งขึ้น เงินก้อนนั้นจะยิ่งเป็นมิตรกับเรา แต่ถ้านำเงินนั้นไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์ มันก็จะกลายร่างจากมิตรเป็นศัตรูได้เช่นกัน

การ เป็นมิตร และศัตรู ของเงินจึงขึ้นอยู่กับที่มาของเงิน และลักษณะของการนำเงินนั้นไปใช้ เงินที่เป็นศัตรูสามารถเปลี่ยนเป็นมิตรได้ หากนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และเงินที่เป็นมิตร ซึ่งมาจากการอดออมก็สามารถเป็นศัตรูได้ หากนำไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์

นอกจากลักษณะของการเป็นมิตร และศัตรูของเงินแล้ว เงินยังแบ่งออกได้เป็น “เงินตาย” และ “เงินเป็น” อีกด้วย
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ ค่าเช่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็น “เงินตาย” ส่วนค่าผ่อนหรือที่อยู๋อาศัยเป็น “เงินเป็น”

สถานการณ์ที่เศร้าก็คือ บุคคลหนึ่งสามารถทำให้ “เงินตาย” กลายเป็น “เงินเป็น” ได้ แต่ไม่ทำเพราะไม่รู้จนเสียโอกาส
ค่าเช่าบ้านคือ ค่าบริการสำหรับการเช่าบ้าน ทุกเดือนที่จ่ายไป มิได้ทำให้เข้าไปใกล้ความเป็นเจ้าของมันเลยแม้แต่น้อย
แต่ สำหรับเงินที่จ่ายในแต่ละเดือน ด้วยจำนวนเดียวกัน บ้านหลังเดียวกัน แต่จ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านแล้ว เงินนั้นก็คือ “เงินเป็น” เพราะทำให้เข้าใกล้ความเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งจะได้ประโยชน์ ทั้งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และหากไม่อยู่เองเอาไปให้คนอื่นเช่าก็ได้ ค่าเช่าเป็นรายได้โดยไม่ต้องทำงาน ข้อ แตกต่างของสองสถานการณ์ ก็คือเงินดาวน์บ้าน ซึ่งสามารถเปลี่ยนสภาวะจากการเช่า มาเป็นการผ่อนส่ง ถ้าไม่มีเงินดาวน์บ้าน เพราะรายได้น้อยจนไม่สามารถออมได้ หรือเช่าอยู่ชั่วคราว ก็พอฟังได้ เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการเป็น “เงินตาย” ได้ แต่สำหรับคนที่สามารถออมได้ แต่ไม่ได้ออม จนต้องตกอยู่ในสภาวะการเช่าแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะเงินจะตายอยู่อย่างนั้นอย่างไม่อาจเป็น “เงินเป็น” ได้  สถานการณ์ ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ บ้านก็ยังเช่าอยู่ จ่ายค่าเช่าบ้านเป็น “เงินตาย” อยู่ทุกเดือน แต่เมื่อมีโอกาสกู้เงิน ก็กลับเอามาผ่อนซื้อรถยนต์เพื่อความ “หน้าบาน” ของตนเอง อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนถูกทำร้ายสองต่อคือ “เงินตาย” ( ค่าเช่าบ้าน ) ทำร้าย และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ทำร้าย ( ตอนซื้อมาราคา 800,000 บาท หากจะขายเมื่อซื้อมาได้ 1 ปี ก็ได้ราคาแค่ 650,000 บาท ดังนั้น จึงหายไป 150,000 บาท ในเวลา 1 ปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 12,500 บาท )

“เงินตาย” อีกลักษณะหนึ่งก็คือค่าเสื่อม
ซึ่ง เป็นเสมือนกับ “เงินตาย” ชนิดที่มองไม่เห็น ค่าเสื่อมไม่ใช่เงินสดที่ไหลออกจากกระเป๋าอย่างจับต้องได้ คนจึงมักมองข้าม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเงิน หรือค่าใช้จ่ายซึ่งมนุษย์ที่มีทรัพย์สินเสื่อมค่าได้ ต้องเผชิญอยู่ตลอดเลา และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ยิ่งมีทรัพย์มากเพียงใด ยิ่งมีค่าเสื่อมมากเพียงนั้น ระหว่างทางที่มันเสื่อม ผู้คนมักมองไม่เห็น เพราะจับต้องไม่ได้ จะเห็นก็ต่อเมื่อขายทรัพย์สินนั้น และเรียนรู้ว่ามูลค่าของมันลดลงไปมากกว่าเมื่อตอนซื้อมา
มูลค่าที่แตกต่างนี่แหละคือ มูลค่าที่สูญหายไป หรือ “เงินตาย” กล่าว โดยสรุปคือ “เงินตาย” คือเงินที่จ่ายหรือสูญเสียไปโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นในอนาคต ดังเช่นค่าเช่าบ้าน ที่ต้องจ่ายไปโดยไม่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ซึ่งต่างจากเงินค่าผ่อนบ้าน ซึ่งเป็น “เงินเป็น” เพราะทำให้ได้เป็นเจ้าของในที่สุด และได้ประโยชน์อีกนานาประการ
 ค่า เสื่อมเป็น “เงินตาย” เพราะเป็นเงินที่สูญไปในสภาวะจำยอม โดยเงินที่สูญไปนั้น มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต ( ถึงแม้ว่ามันคือ ราคาของการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินก็ตาม )
“เงินตาย” นั้นหลีกเลี่ยงได้ในกรณีของการเช่าบ้าน แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีของการเสื่อมค่า
“เงิน เป็น” นั้นคือเงินที่เมื่อใช้ไปแล้วก่อให้ประโยชน์ในอนาคต ดังเช่น การผ่อนส่งบ้าน การลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิด ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า ถ้าบุคคลหนึ่งใช้เงินของตนเองไม่ว่าจะมาจากการออม หรือกู้เขามาอย่างไร้ความหมาย เงินที่จ่ายออกไปคือ “เงินตาย” ดัง นั้น ถ้าจะหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าว และต้องการทำมันเป็น “เงินเป็น” แล้ว ก็จำต้องใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล โดยคำนึงถึงประโยชน์ ของมันในอนาคต

การ ใช้จ่ายเงินสำหรับการบริโภคยาเสพติด การบริโภคที่ทำลายตนเองด้วยการสร้างนิสัยที่ไม่พึงปรารถนา (สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ) การบริโภคสิ่งที่ตนเองไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อหามาได้ (การบริโภคเกินฐานะ ) ฯลฯ คือ การใช้จ่าย “เงินตาย” “เงิน ตาย” ขายคนเป็น เพราะทำร้าย และทำลายเจ้าของเงินเนื่องจาก ไม่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ซึ่งต่างจาก “เงินเป็น” ซึ่งโยงใยกับประโยชน์ในอนาคต

การ มีเงินมากมิได้แก้ไขปัญหาชีวิต หากอาจทำให้ชีวิตยุ่งยาก และมีปัญหามากขึ้นก็เป็นได้ ตราบที่ไม่รู้จักข้อแตกต่างระหว่าง “เงินตาย” และ “เงินเป็น”  “เงินตาย” จะลดน้อยลง หรือแปรเปลี่ยนสภาพเป็น “เงินเป็น” ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าอะไรคือ “เป็น” และอะไรคือ “ตาย”

ขอขอบคุณที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553