สองสามวันก่อน ดิฉันแวะไปทำธุระที่ธนาคารเลยได้เห็นภาพประทับใจค่ะ … เด็กผู้หญิงแก้มยุ้ยน่าหยิกคนหนึ่ง มือซ้ายจูงมือคุณแม่ มือขวาอุ้มกระปุกหมูออมสิน ท่าทางจะมาเปิดบัญชีเงินฝากเป็นครั้งแรก รอยยิ้มดีใจพร้อมแววตาสดใสของหนูน้อยคนนั้น พาให้ใครที่เห็นเป็นต้องอดอมยิ้มตามไปด้วยไม่ได้
ตอนเด็ก ๆ พวกเราส่วนใหญ่คงเคยเป็นแบบหนูน้อยคนนี้ใช่ไหมคะ? ที่มักจะถูกผู้ใหญ่สอนว่า ?…มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท…? เพื่อให้เราหมั่นเก็บออมเงินไว้เพื่อวันข้างหน้า แต่พอตอนโต เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน หลายคนกลับลืมนึกถึงการออมเงินเพื่อวันข้างหน้า ในวันที่เราเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ทำงาน และไม่มีรายได้แล้ว
พูดถึงประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้ดิฉันนึกย้อนไปถึงตัวเลขสถิติที่เคยอ่านเจอมา (ขอประทานโทษที่จำที่มาไม่ได้ค่ะ) ค่อนข้างเป็นข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว เขาบอกไว้อย่างนี้ค่ะว่า ในคนหนุ่มสาวทุก 100 คน จะพบตัวเองเมื่อย่างก้าวสู่วัยเกษียณอายุว่า 1 คน มีฐานะร่ำรวย, 4 คน มีอิสระทางการเงิน, 5 คน ยังต้องทำงานหนัก, 54 คน ต้องพึ่งพาลูกหลาน และ 36 คน จากไปก่อนวัยอันควร
หากถามคุณ ๆ ว่าอยากเป็นแบบไหนใน 100 คนนี้ ดิฉันเชื่อว่าคำตอบที่ได้รับคงออกมาคล้าย ๆ กันใช่ไหมคะ? เพราะคงไม่มีใครอยากลำบากตอนแก่ และเท่าที่ถามคนแถว ๆ นี้ดู หลายคนเห็นตรงกันว่า แก่ตัวไป ไม่จำเป็นต้องมีฐานะร่ำรวยก็ได้ แต่อย่างน้อยขอเป็น 1 ใน 4 คนที่มีอิสระทางการเงิน ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร เลี้ยงตัวเองได้ก็พอ
ดิฉันจะบอกว่า หากคุณอยากเป็น 1 ใน 4 หรือ 5 คน จาก 100 คน ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีในวัยเกษียณนั้น เป้าหมายอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่ค่ะ เพราะวันนี้ดิฉันจะชวนคุณมาสร้าง ?กระปุกออมสิน? เพื่อวัยเกษียณกัน เริ่มจากคุณจะต้องรู้คร่าว ๆ ก่อนว่า คุณจะต้องเก็บเงินไว้ก้อนโตเท่าไรสำหรับวัยเกษียณ อย่าลืมว่า ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่เจริญก้าวหน้า ทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยปัจจุบันยืนยาวขึ้น โดยชายไทยมีอายุเฉลี่ยถึง 74 ปี ขณะที่ผู้หญิงเรา อายุยาวกว่านิดหนึ่งค่ะ คือ อยู่ที่ 79 ปี ปัญหาที่ตามมาคือ เราจะเตรียมเงินไว้ให้พอเพียงกับจำนวนปีที่เราจะต้องมีชีวิตอยู่หลังเกษียณกันอย่างไรดี
ตามทฤษฎีเค้าว่ากันว่า หากเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ จะต้องมีเงินไว้ใช้ไม่น้อยกว่า 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่เราได้รับขณะที่เรายังทำงานอยู่ค่ะ อย่างเช่นสมมติว่าผู้หญิงคนหนึ่ง ตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี? โดยมีเงินเดือนเดือนสุดท้ายเท่ากับ 50,000? บาท นั่นแปลว่าหลังเกษียณ เธอต้องมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละเดือนประมาณ 25,000 บาท เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ด้อยไปกว่าสมัยที่เธอยังทำงานอยู่ หากใช้ค่าอายุเฉลี่ยของเพศหญิง คือ 79 ปี มาคำนวณหาก้อนเงินที่เธอต้องมี เท่ากับเธอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกประมาณ 19 ปี? เมื่อลองคำนวณตามหลักมูลค่าเงินปัจจุบัน (present value) โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4% (อันนี้เป็นตัวเลขคร่าว ๆ นะคะ) พบว่า ณ วันที่ผู้หญิงคนนี้เกษียณ เธอจะต้องมีเงินถึง 4 ล้านบาท (จริง ๆ แล้ว คือ 3,988,066.01 บาทค่ะ)
เป็นอย่างไรคะ คุณได้ลองใช้วิธีเดียวกันนี้ คำนวณก้อนเงินใน ?กระปุกออมสิน? ที่คุณต้องมีแล้วหรือยัง? อยากบอกเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า คุณ ๆ แต่ละคนอาจมีความจำเป็น และความต้องการในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากใช้ชีวิตวัยเกษียณไปกับการท่องเที่ยว บางคนอาจมีโรคประจำตัว สุขภาพไม่แข็งแรง ต้องเผื่อเงินไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลมากหน่อย หรือบางคนอยากมีงานอดิเรกหรือมีกิจกรรมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายแตกต่างนอกเหนือไปจากสูตร 50% ที่ยกมา ก็ลองปรับตัวเลขกันได้นะคะ สำหรับคุณ ๆ ที่คำนวณออกมาแล้ว ทราบว่าตัวเองจะต้องมีเงินเท่าไร ดิฉันก็อยากจะถามต่อไปว่า แล้วปัจจุบันคุณมีเงินเก็บตามนั้นหรือยังคะ???????
หากสำรวจดูแล้ว พบว่า ?กระปุกออมสิน? ของคุณยังขาดเงินอยู่อีกมาก ก็ขอแนะนำให้คุณเริ่มทบทวนการเก็บเงินของคุณตั้งแต่วันนี้ โดยมี 5 วิธีที่จะช่วยให้การเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณของคุณไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ได้แก่? 1. ลดรายจ่ายลง 2. เพิ่มรายได้ 3. เก็บออมเงินให้มากขึ้น (ซึ่งก็เป็นผลต่อเนื่องมาจาก 1 และ 2 ด้วยค่ะ) 4. เกษียณให้ช้าลง ทำงานให้นานขึ้น และ 5. หาวิธีออมเงินแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
ถึงตอนนี้คุณบางคนอาจขอค้านว่า วิธีอื่น ๆ ไม่ติดใจสงสัยเท่าไร แต่วิธีเก็บออมเงินเพิ่มนี่สิ ลำพังรายได้ปัจจุบันยังใช้ไม่พอเลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนเหลือมาหยอดกระปุกกันล่ะ? ดิฉันขอให้คุณมองกลับด้านอย่างนี้ค่ะว่า ให้ตั้งเป้าไว้ก่อนว่าคุณจะต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไร แล้วกันเงินส่วนนั้นแยกออกมาเก็บไว้ โดยเงินส่วนที่เหลือจากเก็บถึงค่อยเป็นเงินที่คุณนำไปใช้จ่ายค่ะ
ส่วนคุณที่กำลังสงสัยว่าวิธีออมเงินแบบได้ผลตอบแทนสูงขึ้นคืออะไร? จริง ๆ แล้วสำหรับทางเลือกต่าง ๆ ในการลงทุน ก็มีตั้งแต่การฝากเงินกับธนาคาร การซื้อทองคำ หรือเครื่องประดับมีค่าจำพวกเพชร พลอย การซื้ออสังหาริมทรัพย์ อย่างบ้าน ที่ดิน หรือคอนโดมิเนียม การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ถัดมา ก็เป็นรูปแบบของการลงทุนในตราสารทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งก็มีทั้งการลงทุนด้วยตัวเอง (อย่างการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หุ้นกู้ ฯลฯ ซึ่งก็มีประเด็นแยกย่อยไปอีกค่ะว่า เป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรืออยู่นอกตลาดฯ) และการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะมีบริษัทจัดการทำหน้าที่รวบรวมเงินของผู้ลงทุนรายย่อย แล้วมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทำหน้าที่บริหารกองเงินค่ะ???
ก่อนจากอยากฝากไว้ค่ะว่า สำหรับคุณที่ยังนิยมรูปแบบการออมเงินด้วยการนำเงินทั้งหมดฝากธนาคารเอาไว้ จริงอยู่ค่ะว่าที่ผ่านมาคุณมั่นใจได้ว่าเงินต้นจะไม่สูญ แต่หากคุณลองคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่คุณได้รับจากการฝากเงินแล้ว หากพบว่า อย่างหลังต่ำกว่าอย่างแรก นั่นก็คือเงินต้นของคุณในความจริงได้ลดลงค่ะ และเมื่อมองไปในอนาคตอีกไม่นานนี้ ที่จะมีสถาบันประกันเงินฝาก คราวนี้เงินต้นแบบชัวร์ ๆ ของคุณที่ฝากธนาคารไว้ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่ไม่นอนแล้วซีคะ เห็นทีคุณต้องลองมองทางเลือกการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ นอกจากเงินฝากธนาคารบ้างแล้วล่ะค่ะ นอกจากนั้น อย่าลืมกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยนะคะ ตามหลักที่ว่า ?อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว? ค่ะ
คราวนี้คุณ ๆ ได้รู้วิธีสำรวจ ?กระปุกออมสิน? และรู้จักทางเลือกต่าง ๆ ในการลงทุนกันไปแล้ว ครั้งต่อไปมาติดตามกันค่ะว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่กำลังฮ็อตฮิตเป็นที่กล่าวขวัญถึงในแวดวงคนทำงานนั้น จะเป็นตัวช่วยให้กับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณของคุณได้อย่างไรบ้าง … แล้วพบกันค่ะ
ที่มา:
คอลัมน์ ?หน้าต่าง ก.ล.ต.?
โดย ณัฐญา นิยมานุสร?
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ประจำวันที่ 21 ก.ย. 47?
No Comment