มารู้จักระบบการ “ออม” เพื่อเกษียณในภาพรวมของประเทศไทยกัน จะได้เห็นภาพว่าการที่ได้ออมกับกองทุนประกันสังคมนั้น เหมือนหรือแตกต่างจากระบบการออมอื่นอย่างไร

ระบบการออม

ครอบคลุม

ยอดเงินออมสะสม ณ สิ้นปี 2554
โดยประมาณ (ล้านบาท)

การออมภาคบังคับ

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ไม่รวมเงินสำรอง)
ข้าราชการ 1,200,000 คน

385,000

กองทุนประกันสังคม (กรณีชราภาพ) พนักงานเอกชน 10,000,000 คน

744,000

การออมภาคสมัครใจ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ 2,200,000 คน

600,000

การซื้อประกันชีวิต
(ยอดเงินลงทุนของบริษัทประกันชีวิต)
กรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 15,000,000 ฉบับ

1,300,000

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

82,000

กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)

128,000

รวม

3,239,000

1. การออมภาคบังคับ ประกอบด้วย

· กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นข้าราชการจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน และมีเงินสะสมประมาณ 385,000 ล้านบาท ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกบข. จะถูกหักเงินสะสม 3% ของเงินเดือน รัฐบาล (ในฐานะนายจ้าง) จ่ายเงินสมทบให้อีก 3% รวมเป็น 6% เมื่อเกษียณจะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนจาก กบข. เท่ากับเงินสะสมและเงินสมทบข้างต้น บวกดอกผลจากการลงทุน (ในบางกรณีอาจจะได้เงินชดเชยและเงินประเดิมเพิ่มเติมด้วย)

 ·    กองทุนประกันสังคม (กรณีชราภาพ) ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นลูกจ้างในภาคเอกชน จำนวนประมาณ 10 ล้านคน มีเงินสะสมประมาณ 744,000 ล้านบาท ลูกจ้างจะถูกหักเงินสมทบ 3% ของเงินเดือน (เงินเดือนขั้นต่ำ 1,650 บาท – ขั้นสูง 15,000 บาท) นายจ้างสมทบให้อีก 3% รวมเป็น 6% เมื่อเกษียณหากสมทบมากกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ 15 ปี จะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสมทบของตนเองและของนายจ้างที่สะสมไว้บวกดอกผลจากการลงทุน หากสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะได้รับ “บำนาญ” จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

จะสังเกตได้ว่า จากจำนวนกำลังแรงงาน 35 ล้านคนนั้นมีผู้ที่อยู่ในระบบการออมภาคบังคับประมาณ 11 ล้านคน คือข้าราชการและลูกจ้างในภาคเอกชน เรียกกันว่าเป็นแรงงานในระบบ (Formal Sector)

2. การออมภาคสมัครใจ

มีไว้เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ แรงงานนอกระบบ (Informal Sector) หรือมีสวัสดิการดังกล่าว แต่ต้องการออมเพิ่มเติม ประกอบด้วย

 · กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างในภาคเอกชนจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน มีเงินสะสมประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยลูกจ้างสมัครใจให้หัก “เงินสะสม” และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” เมื่อเกษียณจะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสะสมและเงินสมทบข้างต้น บวกดอกผลจากการลงทุน

· การซื้อประกันชีวิต ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลบังคับจำนวน 15 ล้านฉบับ อาจจะอนุโลมได้ว่ามีผู้เอาประกันประมาณ 10-12 ล้านคน มียอดเงินออมที่เกิดจากการซื้อประกันชีวิตประมาณ 1,300,000 ล้านบาท (คำนวณจากเงินลงทุนของบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทในระบบ) การซื้อประกันชีวิตเป็นการส่งเสริมให้ผู้ซื้อกรมธรรม์ออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณโดยมีการกำหนดให้ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นสามารถหยุดส่งเบี้ยประกัน โดยได้รับความคุ้มครองชีวิตต่อไปและทยอยได้รับเงินคืนในอนาคตสามารถเลือกแบบกรมธรรม์ที่จ่ายผลประโยชน์เมื่ออายุถึงวัยเกษียณได้

 · กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่มีข้อแม้ว่า (1) ต้องสะสมเงินอย่างต่อเนื่องโดยซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง (2) ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาทแล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า (3) ต้องไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกันและ (4) ขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ณ สิ้นปี 2554 มียอดเงินออมในกองทุน RMF ประมาณ 82,000 ล้านบาท

         · กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาว ถึงแม้ว่า LTF จะไม่มีข้อบังคับเรื่องอายุ 55 ปีเหมือน RMF แต่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระยะยาวก็ทำให้ถือได้ว่า LTF เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการออมเพื่อเกษียณเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่มีข้อแม้ว่า (1) ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทินและ (2) สามารถลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ในแต่ละปีแต่ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ณ สิ้นปี 2554 มียอดเงินออมในกองทุน LTF ประมาณ 128,000 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่า คนไทยมีเงินออมเพื่อเกษียณรวมกันประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ระบบการออมทั้งหมดข้างต้น นอกจากจะถูกออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในขณะที่ยังมีรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้ในยามเกษียณแล้ว ยังมีลักษณะคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งคือเงินที่ออมหรือสะสมเข้ากองทุนต่างๆ เหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษี (อาจจะมีเพดานในบางกรณี) และเมื่อเกษียณ ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน

ขอบคุณที่มา วารสารประกันสังคม ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยคุณวิน พรหมแพทย์