การทำงานฟรีแลนซ์ คุณต้องรู้ว่าในแต่ละเดือน คุณมีค่าใช้จ่ายเท่าไร เพื่อดูว่าเงินที่หามาได้ในแต่ละเดือนรั่วไหลออกไปทางไหนหมด ต้องมีการบันทึกค่าใข้จ่ายทุกๆเดือน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : Q…..ดิฉันเป็นฟรีแลนซ์คนหนึ่งค่ะที่ติดตามคอลัมน์ Money Clinic เป็นช่างแต่งหน้าของสถานีโทรทัศน์ข่าวแห่งหนึ่ง ปัญหาคือพอเป็นฟรีแลนซ์ เก็บสตางค์ไม่ค่อยได้เลยค่ะ ที่จริงบอกได้เลยว่าเป็นคนที่มีรายได้ดีพอสมควร เพราะแต่ละเดือนมีรายได้ขาจรเข้ามาเยอะค่ะ ประมาณว่าไปแต่งหน้านอกสถานที่ เดือนหนึ่งอย่างไม่ได้ก็น่าจะมีถึง 4 หมื่นบาทค่ะเดือนหนึ่งมีภาระผ่อนบ้าน 12,000 บาท ผ่อนรถ 9,800 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ แต่ตอนนี้อายุ 38 แล้วค่ะ ยังไม่มีเงินเก็บเป็นชิ้นเป็นอัน ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ

A……คุณสรัญญาทำงานอิสระหรือที่เรียกว่าเป็นฟรีแลนซ์ มีปัญหาว่าเก็บเงินไม่ได้ เพราะรายได้ถึงแม้จะดีพอสมควร แต่ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหนหมด ดูเหมือนยิ่งหาเงินได้มากเท่าไรก็ยิ่งจ่ายออกไปมากเท่านั้น รวมทั้งไม่รู้จะเก็บเงินอย่างไรดี เพราะรายได้เข้ามาไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

ถึงแม้จะไม่รู้ว่ารายได้มีเข้ามาเท่าไรในแต่ละเดือน

แต่สิ่งที่คุณต้องรู้ก็คือว่าในแต่ละเดือน คุณมีค่าใช้จ่ายเท่าไร เพื่อดูว่าเงินที่หามาได้ค่อนข้างมากพอสมควร ในแต่ละเดือนได้รั่วไหลออกไปทางไหนหมด ก็ต้องเริ่มต้นจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกอย่างในแต่ละเดือน นอกจากค่าผ่อนบ้านและผ่อนรถ มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอะไรอีกบ้าง เดือนละเท่าไร จดบันทึกสัก 3 เดือน แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย อาจจะดูว่ายุ่งยาก ขี้เกียจจดบ้างล่ะ ลืมบ้างล่ะ แต่เป็นวิธีเดียวที่คุณจะรู้ว่าคุณมีลักษณะการใช้เงินอย่างไร และช่วยในการจัดการการเงินที่เข้ามาไม่แน่นอนในแต่ละเดือน สมมติว่าหลังจากจดและนำไปหาค่าเฉลี่ยคุณมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5 หมื่นบาท พักตรงนี้ไว้ก่อน

ต่อมาก็ไปดูที่รายได้ คุณบอกว่าอย่างต่ำคุณมีรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท แต่บางทีส่วนใหญ่จะได้มากกว่านั้น วิธีการจัดการเรื่องเงินของผู้ทำงานอิสระเช่นคุณสรัญญาก็คือ

เปิดบัญชีที่ 1 เป็นบัญชีค่าใช้จ่ายประจำเดือน คุณจะมีเงินอยู่ในนั้นเดือนละเท่ากับค่าใช้จ่ายต่อเดือน แล้วจำกัดค่าใช้จ่ายของคุณให้อยู่ที่เดือนละ 5 หมื่นบาท ถ้าเดือนนี้คุณมีรายได้เข้ามามากกว่า 5 หมื่นบาท ส่วนที่เกินจาก 5 หมื่นบาท คุณจะนำเข้าบัญชีที่ 2 เป็นบัญชีเงินเก็บที่ต่างหากจากบัญชีค่าใช้จ่ายปกติ แต่ถ้าเดือนไหนงานน้อย รายได้ของเดือนนั้นต่ำกว่าเดือนละ 5 หมื่นบาท เช่นเดือนนั้นรายได้เหลือ 4 หมื่นบาท คุณก็นำเงินออกจากบัญชีที่ 2 จำนวน 1 หมื่นบาทไปใส่บัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ทำอย่างนี้เป็นประจำ สักพักหนึ่งคุณก็จะพบว่าคุณเริ่มมีเงินเก็บในบัญชีที่ 2 ของคุณมากขึ้นเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนค่ะ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่ทำงานอิสระคือ คุณจะไม่มีสวัสดิการหรือหลักประกันอะไรจากนายจ้างเลย ดังนั้นอย่าลืมบัญชีที่ 3 คือบัญชีเงินสดสำรองฉุกเฉิน อันนี้สำคัญมาก คุณควรจะมีเงินในบัญชีนี้เท่ากับอย่างต่ำ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำเดือน เพราะถ้าเกิดเหตุอันไม่คาดคิดอะไรขึ้นมา เช่นเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุที่ทำงานไม่ได้ คุณต้องขาดรายได้เป็นช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่ยังมีรายจ่ายเดือนละ 5 หมื่นอยู่เท่าเดิม คุณก็สามารถนำเงินจากบัญชีเงินสดสำรองนี้ออกมาใช้จ่ายได้ โดยที่เงินเก็บระยะยาวในบัญชีที่ 2 ของคุณไม่ต้องถูกกระทบ

หลังจากคุณจัดระบบตรงนี้ได้ลงตัวไปได้สักพักแล้ว คุณอาจจะกลับไปดูบัญชีค่าใช้จ่ายของคุณว่ามีรายการไหนที่สามารถตัดลงไปต่ำกว่านี้หรือไม่ หรือว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายของคุณต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะคุณลืมรายการบางรายการที่ต้องจ่ายเป็นรายปี เช่น ค่าประกันรถ หรือค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน เป็นต้น คุณก็สามารถปรับให้เหมาะสมกับความเป็นจริงให้มากที่สุด และใช้จ่ายให้อยู่แต่เฉพาะในวงเงินนี้เท่านั้น แล้วนอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นเงินเก็บของคุณในระยะยาวต่อไปค่ะ

ที่มา : Money Clinic : ญาณินี ทองประเสริฐ กรุงเทพธุรกิจ 16 มิถุนายน 2551