เหตุผลว่าทำไมการทำประกันชีวิตจึงเป็นช่องทางการออมที่ทรงประสิทธิภาพและไม่เหมือนใคร
1.เติบโตสม่ำเสมอ ทบทวีคูณทุกปี การทำประกันชีวิตต้องจ่ายเบี้ยทุกปีในจำนวนที่เท่ากันจนกว่าจะครบสัญญา ทำให้ยอดเงินออมเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งต่างจากการออมในรูปของเงินฝากธนาคาร หุ้น หรือกองทุนรวมที่อาจจะขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะของตลาด2.เป็นแหล่งเงินทุนระยะยาว สัญญาประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 20 ปีขึ้นไป ทำให้บริษัทประกันชีวิต สามารถนำเงินไปลงทุนระยะยาวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย บริษัทประกันชีวิตเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ในสัดส่วนสูงสุด |
3.ลดปัญหาขาดดุลบัญชีเงินสะพัด ในภาวะที่รัฐบาลกำลังเร่งลงทุน โครงการเมกะโปรเจ็ก แต่รัฐบาลมีเงินทุนไม่เพียงพอ หากเงินออมในประเทศมีน้อย ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจสูงถึง 4.5% ของ GDP ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศได้
4.รองรับปัญหาคนสูงอายุในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า เมืองไทยจะมีคนชราที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 18% หากรัฐไม่สนับสนุนให้ผู้มีเงินได้รู้จักเก็บออมด้วยตนเองแล้ว มั่นใจได้เลยว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่มีศักยภาพพอ ที่จะจุนเจือผู้สูงอายุเหล่านี้ได้5.เป็นทางออกของผู้ไม่ชอบความเสี่ยง คนทั่วไปมักเข็ดหลาบกับการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม ภาพของลุงบุญช่วย ที่ลงทุนโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ยังคงฝังอยู่ในความรู้สึกของคนไทย หลายคนก็เพิ่งขาดทุนมหาศาลกับการลงทุนหุ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาจึงมองหาการเก็บออมในช่องทางที่เปิดโอกาสให้ออมได้สม่ำเสมอ แต่ไม่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จะเข้ามารองรับคนเหล่านี้ได้ |
6.รองรับปัญหาดอกเบี้ยระยะยาวดิ่ง ปัญหาดอกเบี้ยระยะยาวกำลังเป็นเรื่องปวดหัวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ดอกเบี้ยระยะสั้น 1-5 ปี กำลังปรับตัวสูงขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปกลับลดลง
ลองนึกภาพดูว่า อีก 20 ปีข้างหน้า พนักงานบริษัทคนหนึ่งเกษียณอายุโดยมีเงินออมอยู่ที่ 5 ล้านบาท
แต่ตอนนั้นดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 0.039% พันธบัตร 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.216% อะไรจะเกิดขึ้น โปรดอย่าปฏิเสธว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงที่ประเทศญี่ปุ่นเวลานี้
แต่โชคดีที่เรายังมีกรมธรรม์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แบบเงินได้ประจำ” ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปตลอดชีวิต ผู้เอาประกันเพียงแต่จ่ายเบี้ยประกันไประยะเวลาหนึ่ง เช่น 20 ปี จากนั้นก็รับเงินบำนาญในอัตราดอกเบี้ยคงที่ เช่น 5% ไปตลอดชีวิต ช่องทางการออมนี้จะเป็นหลักประกันที่แน่นอนสำหรับคนเกษียณอายุ ที่ไม่มีสถาบันการเงินไหนทำได้ ซึ่งในอเมริกานิยมทำกันมาหลายทศวรรษแล้ว
7.ช่วยลดภาระรัฐบาลและสังคม หลักการสำคัญประการหนึ่งของประกันชีวิตคือ การกระจายความเสี่ยง หากผู้เอาประกันเกิดเหตุเภทภัย เจ็บป่วย อุบัติเหตุ พิการ หรือเสียชีวิต เงินสินไหมที่ได้ย่อมช่วยผ่อนเบาภาระของผู้เอาประกัน และครอบครัว ไม่ให้กลายไปเป็นภาระของรัฐและสังคมรอบข้างได้
8.พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม ทุกวันนี้ เงินออมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ธนาคาร ซึ่งเป็นเงินทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนต่ำ ทำอย่างไรจึงจะให้เงินออมของประชาชนได้กระจายไปออมในแหล่งทุนระยะยาวมากขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศชาติมากกว่านี้
จะเห็นว่า หากรัฐส่งเสริมให้ประชาชนออมในรูปของกรมธรรม์ประกันชีวิต ผลที่เกิดขึ้นเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว แต่รัฐควรใจกว้างให้การสนับสนุน ด้วยการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจด้วย
มีชนชั้นกลางมากมายที่มีรายได้เดือนละ 50,000 บาทขึ้นไป แต่จากการวิจัยพบว่า คนเหล่านี้ แม้จะมีเงินออมอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคมก็ตาม แต่เมื่อถึงยามเกษียณอายุ คนเหล่านี้จะมีรายได้เพียง 13% ของเงินเดือนที่เคยได้รับ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
หากต้องการให้เพียงพอ ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งจากการคำนวณพบว่า เขาต้องมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ถ้าใช้เวลา 20 ปี เขาต้องเก็บเงินถึงปีละ 200,000 บาท จึงจะได้ยอดเงินตามเป้าหมาย (เมื่อรวมดอกผลแล้ว)
สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยง ไม่ชอบลงทุนในหุ้น หรือในตราสารหนี้ที่เขาไม่คุ้นเคย เขายังมีทางเลือกที่จะออมเงินผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ถ้ารัฐมีมาตรการสนับสนุนที่ดีพอ เชื่อว่าจะมีคนสนใจออมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะทบต้นเข้าไปทุกปีจนครบสัญญา
เพียงแต่รัฐบาลเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตให้เป็น 200,000 บาทต่อปี สำหรับกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป (เมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นระยะยาวที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 300,000 บาท และลงทุนเพียง 5 ปีปฏิทินเท่านั้น) เชื่อว่า จะมีผู้ที่พร้อมจะออมเพิ่มขึ้นทันทีนับแสนคน โดยรัฐจะสามารถเก็บภาษีจากธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมาชดเชยภาษีที่หายไปได้ในที่สุด หาไม่แล้ว รัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนว่า “ทำไม คนที่นิยมความมั่นคง ไม่ชอบความเสี่ยง ห่วงใยในครอบครัว จึงไม่ได้รับสิทธิภาษีเหมือนคนที่กล้าเสี่ยงลงทุนในหุ้น ที่ใช้เวลาลงทุนเพียง 3 ปีกับอีกไม่กี่วันเท่านั้น”
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก คุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ
No Comment