ในวงการธุรกิจและเศรษฐกิจไทย หากเอ่ยชื่อ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก ด้วยความโดดเด่นทางสายงานด้านเศรษฐกิจ งานวิจัยมากมายที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งยังเป็นนักวิชาการคิวทองที่ต้องเดินสายบรรยายให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสดีที่ Our Moments ได้มานั่งสัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง ไปร่วมพูดคุยถึงชีวิตการทำงานและบทบาทการเป็น Family Man มาดูกันว่า การถือหมวก 2 ใบ ระหว่างหน้าที่การทำงานที่ต้องรับผิดชอบและไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ จะมีสูตรสำเร็จอย่างไร ไปค้นหาคำตอบกัน
เต็มที่กับการทำงานตัวจริง
นอกจากตำแหน่งคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักแล้ว ผศ.ดร.ธนวรรธน์ยังรับตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ การทำวิจัยเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและหอการค้าโพล ซึ่งเป็นงานที่มอบข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณชน การทำวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม
“การสอนหนังสือเป็นงานหลักที่ผมต้องทำอยู่แล้ว โดยสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ต่อมาคือการบรรยายนอกสถานที่ให้กับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ส่วนงานด้านสื่อมวลชนอย่างจัดรายการวิทยุรายงานข่าวเศรษฐกิจ ช่วงนี้จะน้อยลงกว่าเมื่อก่อน จากที่เคยทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็เหลือ 2 วันต่อสัปดาห์ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ทั้งยังเป็นคณะกรรมการให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงงานอื่นๆ
ที่ถูกมอบหมายเป็นพิเศษจากหอการค้าไทย”
บทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัว
ถึงแม้ตอนนี้งานคิวจะรัดตัว จนทำให้เวลาที่มีให้กับครอบครัวถูกลดทอนลงไป แต่หัวหน้าคนนี้ก็ทำหน้าที่เป็น Family Man ของภรรยาและลูกๆ ได้อย่างดีไม่แพ้กัน
“ผมจะให้วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว ซึ่งยอมรับว่าสิ่งที่เราทำ ครอบครัวก็ต้องเสียสละ หลายครั้งที่ผมต้องทำงาน 7 วันโดยไม่ได้หยุดพัก แต่พอมีเวลาว่าง ผมจะพยายามอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด ถ้าวันไหนเวลากลับบ้านเร็วหน่อยก็จะชวนไปกินข้าวนอกบ้าน หรือถ้าวันเสาร์มีเวลาครึ่งวันก็จะอยู่กับครอบครัวเต็มที่ ส่วนเวลาในการไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ กับครอบครัวก็มี เช่น ถ้ามหาวิทยาลัยมอบหมายให้ไปทำงานต่างประเทศ หรือได้เดินทางไปบรรยายที่ต่างจังหวัดผมก็จะพาครอบครัวไปด้วย
“ยอมรับว่างานที่ทำไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับพวกเขาเท่าไหร่ แต่เวลาที่ผมได้อยู่บ้าน ก็จะเข้าไปเล่นกับเขา แหย่เขา ทำตัวให้เข้ากับลูกๆ ได้ง่าย เพราะผมเลี้ยงลูกแบบสมัยใหม่ ลูกจะดู Super Junior เราก็ดูกับเขาได้ ลูกจะเล่น Play Station เราก็เล่นกับเขาได้ ทำให้เวลาที่เราอยู่ใกล้เขาจึงดูไม่ขัดเขิน ถึงจะไม่ใกล้กันตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ห่างกัน”
ความสุขแท้จริงอยู่ที่เราเลือก
“ต้องบอกว่าอนาคตไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเท่าไหร่ ณ วันนี้ผมจะเป็นคณบดี หรือผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจ ท้ายสุดแล้วผมอาจเกษียณด้วยตำแหน่งอาจารย์ธรรมดาคนหนึ่ง เปรียบเทียบง่ายๆ ได้กับหลัก วัฏฏะ สังขาร หรืออธิบายได้ง่ายๆ ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นไปได้ตามปกติในสังคมของอุดมศึกษา ไม่มีหลักประกันใดที่จะยืนยันว่าเราเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืนในตำแหน่งทางการบริหารในวงการการศึกษา มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน ดังนั้นจึงไม่ได้คาดหวังอะไรกับตำแหน่งบริหาร เพียงแต่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่จะต้องเติบโตไปข้างหน้าให้ยั่งยืนให้ได้ทางวิชาการก็คือ การที่ไม่ตายไปจากภาควิชาการในวงการการศึกษา นั่นคือต้องมีความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งตอนนี้ผมเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำเป็นที่ต้องก้าวหน้าต่อไป ก็วางแผนในอนาคตไว้ว่าจะทำ รศ. (รองศาสตราจารย์) ทำตำราหรือหนังสือของตัวเอง ส่วนการเป็นศาสตราจารย์ ยังไม่ได้คาดหวังไปถึงจุดนั้น เนื่องจากงานที่ทำคงเป็นศาสตราจารย์ได้ไม่ง่าย แต่อาจเป็นความหวังเล็กๆ
“สำหรับตัวผมเอง หลายคนอาจจะคิดว่ามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าสิ่งที่ได้มา ทั้งหน้าที่การงาน เงินทอง ชื่อเสียงเหล่านี้ จากประสบการณ์ตรงของผมค้นพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ทุกอย่างที่ได้มาล้วนเจือมาด้วยความทุกข์ ความเครียดทั้งสิ้น ในระยะหลังผมได้เริ่มศึกษาธรรมะบ้าง และพบว่าการเจริญสติวิปัสสนา น่าจะเป็นความสุขที่แท้จริงสำหรับตัวเอง เพราะผมได้ลองเข้าไปศึกษาและมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง จึงรู้สึกว่านี่อาจเป็นความสุขที่แท้จริงสำหรับเรา เพราะฉะนั้นปลายทางที่ผมตั้งใจไว้ก็คือ ผมจะเจริญสติวิปัสสนา ให้มีความก้าวหน้าในทางธรรม ถ้าถามว่าเป็นความตั้งใจใช่หรือไม่ ตอบว่าใช่ เพราะถ้าเราไปพบด้วยตนเองอย่างถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา และถูกจริตของเรา คิดว่าหนทางนี้น่าจะเป็นหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง”
Smart Life
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ คำว่า ‘Smart’ คำว่า ‘Intelligence’ ถ้าเราพูดถึงบุคคลเราจะพูดว่า ‘Smart Life’ ในเชิงธุรกิจตอนนี้เป็นยุคของโลกแห่งไอที ก็เริ่มใช้คำว่า ‘Business Intelligence’ หรือระบบอัจฉริยะ ผมจึงคิดว่าเข้ากันได้กับคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเงื่อนไขที่สำคัญคือความรู้ แต่ท้ายที่สุด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีภูมิคุ้มกันในตัว มีเหตุมีผล และรู้จักประมาณตนอยู่ได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ แม้จะมีความผันผวนเข้ามา เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง ผมจึงเชื่อว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือแนวทางของการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
ดังนั้นคำว่า ‘Smart Life’ ก็คือการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนิยาม ‘Smart Life’ ของผมคือ
1. อยู่ได้โดยที่ไม่เป็นหนี้
2. อยู่ได้โดยไม่เป็นโรค
3. อยู่รอดโดยไม่เป็นเหยื่อใคร เช่น เป็นเหยื่อให้ค่านิยมที่ผิดๆ เป็นเหยื่อให้กับสิ่งยั่วยุต่างๆ หรือถ้าเป็นคนทั่วไปก็คือเป็นเหยื่อของความฟุ้งเฟ้อ เพราะถ้าไม่พอประมาณก็เป็นหนี้ได้ง่าย
“แต่ที่เราจะต้องรู้คือวันนี้เราใช้ชีวิตที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ทุกวันนี้ผมยังทำงานไปหัวเราะไปได้ ผมทำงานไปลูกเมียก็ยังไม่ได้ทิ้ง ทำงานไปงานวิจัยก็ไม่ได้ล้มเหลว แต่ยังมีคุณภาพที่ยังพอใจอยู่ ถามว่า Smart หรือยัง ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับเราจะนิยามคำว่า Smart อย่างไรมากกว่า”
ป้องกันความเสี่ยงบนพื้นฐานความพอเพียง
“ผมอยากจะแนะนำให้คนทั่วไปนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพราะผมก็ยึดหลักการนี้มาปรับใช้ในชีวิตเหมือนกัน เช่น ถ้าผมจะวางแผนการเงิน ผมรู้หรือไม่ว่าเงินนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง ยกตัวอย่าง ผมเห็นคนอื่นซื้อทอง ผมก็ซื้อบ้าง นั่นคือ ผมไม่รู้ แต่ทำตามคนอื่น แต่ถ้าผมจะซื้อทองด้วยความรู้ว่าทองซื้อไว้เพื่อเพิ่มมูลค่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าทองจะมีราคาสูง ผมก็จะเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องทองว่าราคาในระยะสั้นระยะยาวเป็นอย่างไร หรือมีความเสี่ยงความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างไร แล้วคุ้มค่ากว่าการลงทุนอย่างอื่นหรือไม่มากน้อยเพียงใดแล้วจึงเข้าไปลงทุนซื้อทองคำ ก็เมื่อรู้แล้วเราต้องมีคุณธรรมทางการเงินอย่างเพียงพอ คือการมีวินัยทางการเงินคือ ขายเมื่อขาดทุนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้
“ถ้าผมมีเงินเก็บซักก้อน ผมจะนำไปลงทุนอะไรบ้าง อันดับแรกคือ ไว้สำหรับเหตุฉุกเฉิน ต่อมาคือยามเจ็บไข้ได้ป่วย ตามมาด้วยการซื้อประกัน ทั้งประกัน ประกันสุขภาพ หรือส่งประกันสังคม ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ถ้าผมไม่เจ็บก็เป็นการซื้อความเสี่ยง แต่ถ้าเจ็บ ผมจะได้มีหลักประกันความปลอดภัยในกรณีมีค่าใช้จ่ายเกินเหตุ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงการออม ถัดมาคือเก็บไว้เพื่อประกันความเสี่ยงจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ก็ควรซื้อกรมธรรม์ชีวิตไว้เพื่อลูกหลาน แต่ก็ต้องดูความพร้อมของตัวเองด้วย ซึ่งกรมธรรม์ชีวิตต้องเลือกได้ว่าเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อความเสี่ยง แต่จะมีเงินคืนกลับมา จุดนี้ต้องถือว่าเป็นการตอบสนองความเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาในระยะสั้น จะทำให้มีเงินเข้ามาโดยไม่สะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่หารายได้หลัก ทั้งยังสามารถประหยัดภาษีได้ “และสุดท้ายคือด้วยเหตุผลในระยะยาว เราต้องเข้าใจว่าในโลกใบนี้ก้าวเข้าสู่ยุค New Economy คือเศรษฐกิจใหม่ แต่ยุคหน้าคือ Nano Technology เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์การแพทย์จะโดดเด่นขึ้น จะช่วยให้คนมีสุขภาพดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 90-100 ปี เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มเห็นกระบวนการที่เราต้องคิดถึงการออมเร็วๆ เพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเองยามเกษียณ จะเห็นว่าการลงทุนในระยะยาว เช่น ฝากประจำเป็นพันธบัตรรัฐบาล พวกนี้จะมั่นคง อีกส่วนหนึ่งคือซื้อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว ซื้อหุ้นหวังเงินปันผล เรื่องเหล่านี้คือการใช้เงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละคนด้วยเช่นกัน”
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ยังได้ฝากข้อคิดดีๆ ไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เราได้นำไปปรับใช้อย่างน่าสนใจว่า
“ผมยึดตามกรอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาในการพึ่งพาตนเอง และจัดสรรสิ่งที่ตนเองมีให้เกิดประโยชน์ โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราได้อย่างสมดุล คือ
1. พยายามจัดสรรให้มีเงินเข้า-ออกตลอดเวลาเพื่อสามารถเลี้ยงตนเองได้
2. มีเงินก้อนใหญ่ในการพัฒนาตนเอง
3. มีกำลังหรือทรัพยากรที่จะดูแลธุรกิจหรือชีวิตครอบครัวของตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยทั้งหมดนี้ใช้หลักพอประมาณ คือใช้จ่ายให้เพียงพอต่อรายได้ที่หามา สำหรับในแง่การจัดสรรเวลา ก็ใช้ 10% กับตนเอง โดยใช้ชีวิตส่วนตัวให้มีความสุขอยู่กับตนเอง อีก 1 ใน 3 จะเป็นเรื่องของการพักผ่อนอย่างเต็มที่กับครอบครัว อีก 30% จะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันอย่างปกติ ก็คือใช้ชีวิตให้กลมกลืน เช่น มีเพื่อนก็ต้องคบ แต่ครอบครัวก็ต้องอยู่ด้วยอย่างกลมกลืน และ 30% สุดท้ายคือ อยู่กับงาน ทำให้เต็มที่ ผมเชื่อว่าการใช้ชีวิตที่สมดุลคือการจัดสรรให้ลงตัว อย่าทำงานมากเกินไป พักผ่อนกับครอบครัว ใช้เวลากับลูก นี่คือจุดที่สมดุลมากกว่า”
ที่มา : นิตยสาร Our Moments ปีที่ 4 ฉบับที่ 8
No Comment